Publication

Home / Publication

เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง: ปัญหาใหญ่ซึ่งยังรอการแก้ไขของจีน 1

เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง: ปัญหาใหญ่ซึ่งยังรอการแก้ไขของจีน 1โดย สิรีธร โกวิทวีรธรรม นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง: ปัญหาใหญ่ซึ่งยังรอการแก้ไขของจีน 1

สิรีธร โกวิทวีรธรรม
นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1515
 
เมื่อเดือนมิถุนายน 2015 มีผู้พบศพเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งให้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน 4 คน เป็นชายหนึ่งหญิงสาม  เสียชีวิตอยู่ในบ้านที่เขตฉีซิงกวาน (七星关区) เมืองปี้เจี๋ย (毕节市) มณฑลกุ้ยโจว โดยทั้ง 4 คนฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาฆ่าแมลง พี่ชายคนโตอายุ 13 ขวบ น้องสาวคนเล็กสุดเพิ่งอายุได้ 5 ขวบ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งก็รีบรุดไปที่เกิดเหตุทันที และได้พยายามช่วยชีวิตเด็กทั้งสี่ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ จากการสอบถามชาวบ้านหลายคนทำให้ทราบว่า แม่ของพวกเขาออกจากบ้านไปเมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนพ่อออกไปทำงานข้างนอกเมื่อมกราคม 2015 ปู่และย่าก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ส่วนตาและยายยังมีชีวิตอยู่แต่อายุมากแล้ว จึงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กทั้ง 4 คนได้

จากคำบอกเล่าของปู่ (พี่ชายของปู่) เมื่อเดือนที่แล้ว เด็กทั้ง 4 คนหยุดเรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงินที่จะใช้ในการดำรงชีวิต อาหารเพียงอย่างเดียวในบ้าน คือข้าวโพดที่บิดาของเด็กปลูกไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยปกติแล้วเด็กทั้ง 4 คนจะเอาข้าวโพดมาบดเป็นแป้งข้าวโพด ยังไม่ทันใช้ตะแกรงร่อนให้สะอาดก็นำไปรับประทานแล้ว นั่นก็เพราะ “ยากจนเกินไป” ปู่ยังบอกอีกว่า ถึงแม้จะยากจน แต่เด็กๆ ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเลย และถึงแม้บิดาของเขาจะทิ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไว้ให้ แต่ก็ติดต่อไม่ได้ ระหว่างที่ตำรวจกำลังตรวจสอบสภาพแวดล้อมและปัจจัยอันเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตาย ก็พยายามตามหาพ่อแม่ของเด็กไปด้วย ในที่สุดก็สามารถติดต่อพวกเขาได้ จากรายงานข่าวเผยว่า ตั้งแต่ปี 2012 พ่อและพี่ชายคนโตอยู่ในเกณฑ์ได้รับการประกันสังคมขั้นต่ำสุด (最低生活保障)2 โดยจะได้เงินประกันคนละ 531 หยวนต่อฤดูกาล ผู้สำรวจพบว่า ยังเหลือเงินประกันสังคมขั้นต่ำสุดอยู่อีก 3,568 หยวน และยังมีเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ธัญญาหาร เนื้อตากแห้ง เป็นต้น

รายงานข่าว CCTV เผยว่า พี่ชายคนโตได้เขียนจดหมายลาตายไว้ 1 ฉบับ ใจความหลักก็คือ “ขอบคุณเจตนาดีของพวกคุณ ผมรู้ว่าพวกคุณดีต่อผม แต่ผมควรไปแล้ว” ในส่วนท้ายมีเนื้อหาทำนองว่า “จริงๆ ได้วางแผนเรื่องนี้มานานแล้ว วันนี้เป็นช่วงเวลาที่ควรไปเสียที”

เสียงจากสังคม

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่แสดงไว้ใน Wall Street Journal ระบุว่า จากการทดสอบมาตรฐานพบว่าเด็กในชนบทของจีนมีสิ่งบ่งชี้ว่า มีปัญหาเรื่องความเข้มแข็งของจิตใจสูงถึง 70% ตัวอย่างเช่น เด็กจำนวนมากรู้สึกกังวลและซึมเศร้า ศาสตราจารย์เซี่ยหมิง (夏明) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จาก City University of New York ได้วิเคราะห์ว่า นับวันปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้ง (留守儿童) ในจีนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาการเลือกทางเดินชีวิตของพ่อแม่ของบางครอบครัวในชนบท แต่เป็นปัญหาด้านนโยบายการพัฒนาของทั้งประเทศ

“ปัจจุบันการพัฒนาของทั้งประเทศจีนก็คือ การสร้างสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของการเสียสละในอนาคต  เด็กที่ถูกทอดทิ้ง  ทั้งการวางแผนครอบครัว การแบ่งแยกเมืองและชนบท และที่อยู่อาศัยในเมือง ล้วนเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงถึงกัน”

เดิมทีเงื่อนไขการศึกษาในชนบทของจีนก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ประกอบกับการที่พ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา เด็กชนบทจำนวนมากจึงไม่สามารถเรียนจบได้ อัตราการเลิกเรียนกลางคันของเด็กที่ถูกทอดทิ้งสูงกว่าเด็กทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ศาสตราจารย์เซี่ยหมิงกล่าวว่า “การที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ทิ้งลูกไว้กับคนสูงอายุ เป็นโครงสร้างทางสังคมและนโยบายสาธารณะของจีนที่ก่อให้เกิดการไม่มีทางเลือก   ครอบครัวแตกแยก การแยกทางของพ่อแม่ การละเลยคนรุ่นหลัง ทำให้เด็กไม่ได้รับความรักและเอาใจใส่จากพ่อแม่ได้ทุกวัน ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตแบบในเมืองได้”

พ่อหรือแม่หรือทั้งคู่ออกไปทำงานต่างถิ่นทำให้ขาดการดูแลลูก เด็กบางคนต้องออกไปเร่ร่อนอยู่ตามท้องถนน  ปี 2012 มีเด็กชายเร่ร่อน 5 คนตายอย่างน่าเวทนาในถังขยะของเมืองปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจว ซึ่งทำให้ผู้คนเจ็บปวดมาก เมื่อไม่นานมานี้ CCTVรายงานว่า รัฐบาลเมืองกุ้ยหยางให้ความสนใจกับปัญหาเรื่องนี้ และได้เชิญเด็กที่ถูกทอดทิ้ง 50 คนมาฉลองปีใหม่ที่ปักกิ่ง แต่คนจำนวนมากก็รู้ว่าปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งไม่ใช่ปัญหาของครอบครัวหนึ่งหรือสองครอบครัวหรือเด็กไม่กี่คน ศาสตราจารย์เซี่ยหมิงกล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาไม่สามารถล้มเลิกระบบทะเบียนบ้านได้ แรงงานอพยพที่ทำงานในเมืองไม่เคยได้รับอิสระและการปลดปล่อย”

เด็กถูกทอดทิ้งกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงในชนบทของจีนปัจจุบัน และเป็นกลุ่มใหญ่ ยากลำบากในการช่วยเหลือดูแลมาก

ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งที่เมืองปี้เจี๋ยชักนำให้สังคมสนใจ

สิ่งที่น่าสนใจคือ หลายปีมานี้ สถานการณ์เกี่ยวกับเด็กถูกทอดทิ้งในเมืองปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจวถูกสื่อรายงานหลายครั้ง

ในปี 2012 เคยเกิดคดีเด็กเร่ร่อน 5 คนเสียชีวิตในถังขยะ อาหารการกินของเด็กทั้ง 5 คนโดยปกติคือ  ข้าวต้มและเกลือ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2014 เกิดเหตุอาจารย์ข่มขืนกระทำชำเรานักเรียน สถานีตำรวจเสี่ยวจี๋ฉ่าง (小吉场) สำนักรักษาความปลอดภัยสาธารณะเขตฉีซิงกวาน เมืองปี้เจี๋ยได้รับแจ้งว่า หมู่บ้านหนานเฟิง (南丰村) เมืองเสี่ยวจี๋ฉ่างเกิดคดีข่มขืนกระทำชำเรา ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดคือ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนประถมฯ แห่งหนึ่งในปี้เจี๋ย และถูกจับกุม  มีนักเรียนหญิงที่เป็นผู้เสียหายอย่างน้อย 12 คน คนที่อายุน้อยที่สุดเพียง 8 ขวบ แยกเป็นประถมสอง ประถมสี่ และประถมหก นักเรียนหญิงที่ถูกละเมิดส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ผู้ปกครองไปทำงานต่างถิ่นตลอดปี

เวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันที่ 11 พฤษภาคม 2015  เหวยฮุ่ยผิง (韦会平) ผู้รับผิดชอบโรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียนในหมู่บ้านจงจ้าย (中寨村) เมืองเผียวจิ่ง (瓢井镇) อำเภอต้าฟาง (大方县) ของปี้เจี๋ย ถูกคุมตัวเนื่องจากต้องสงสัยว่าลวนลามเด็กเล็ก ปัจจุบันแน่ชัดว่ามีเด็กหญิงอย่างน้อย 7 คนที่แจ้งความว่าถูกเหวยฮุ่ยผิงลวนลาม  โดยเด็กเหล่านี้มีอายุ 6 – 7 ขวบ และส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

หมู่บ้านของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง

หมู่บ้านเหลาต้ง ซึ่งแปลว่า แรงงาน (劳动村) เป็นหนึ่งในหมู่บ้านชนเผ่าแม้วจำนวนมาก อยู่ในเขตเมืองปาจ้าย (八寨镇) ของปี้เจี๋ย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากร 100 กว่าครอบครัว คนหนุ่มสาวเกือบทั้งหมดไปเป็นแรงงานต่างถิ่น เหลือเพียงเด็กๆ กลุ่มหนึ่งและคนชราที่ถูกทอดทิ้งเนื่องจากอยู่ในหมู่บ้าน ในแต่ละบ้านยังมีพี่น้องชายหญิงอีกหลายคน เด็กหลายคนช่วงที่ไม่ได้เข้าเรียนก็จะอยู่บ้านดูแลน้อง เด็ก 66 คนเรียนที่โรงเรียนประถมหนีซู่ (泥树小学) ซึ่งเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในหมู่บ้าน ส่วนเด็กที่เหลือทุกวันจะต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตรไปเรียนหนังสือในเมือง

โรงเรียนประถมหนีซู่เป็นบ้านดินสองด้าน เนื่องจากอาคารชำรุดเพราะความเก่า โรงเรียนไม่กล้าโยงสายไฟเข้ามา ห้องเรียนจึงไม่มีไฟฟ้า ทำได้เพียงอาศัยแสงสว่างจากหน้าต่างรับลมทั้ง 4 บาน หน้าหนาวในเขตภูเขาของกุ้ยโจวมีหมอกหนา แสงแดดน้อย พวกเด็กๆ จึงเรียนหนังสือด้วยความยากลำบาก

จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศจีน ทำให้นับวันชาวนาที่ยังหนุ่มยังสาว เข้าเมืองไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ามากขึ้นเรื่อยๆ  จึงทำให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจำนวนมากถูกทอดทิ้งอยู่ในชนบทกลายเป็นกลุ่มคนพิเศษกลุ่มหนึ่งขึ้นมา

เด็กวัยรุ่นที่ถูกทอดทิ้งกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเติบโตและเรียนรู้ พวกเขาไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือและนำทางด้านความคิดความเข้าใจและค่านิยมจากพ่อแม่ ขาดความสนใจและเอาใจใส่ด้านความรู้สึกจากพ่อแม่ในระหว่างเติบโต ง่ายต่อการเกิดความผิดปกติมากในการรับรู้เข้าใจ และค่านิยมในเรื่องของการพัฒนาด้านจิตใจ การเบี่ยงเบนและอุปนิสัย ถึงขนาดทำให้บางคนเดินทางผิดได้  ดังนั้น เด็กที่ถูกทอดทิ้งต้องการการเอาใจใส่จากสังคมมาก และยิ่งต้องการได้รับความรักจากคนในครอบครัว ตลอดจนความเอาใจใส่จากพ่อแม่ด้วย

การที่แม่ออกไปทำงานข้างนอกส่งผลกระทบต่อเด็กที่ถูกทอดทิ้งมาก

“ควรออกมาดูปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งในชนบทบ้าง” ศาสตราจารย์ต้วนเฉิงหรง (段成荣) รองคณบดีวิทยาลัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน (中国人民大学社会与人口学院) ระบุว่า “เมื่อมองจากสถานการณ์โดยรวมของทั้งประเทศ พวกเรากำลังพยายามก้าวให้ทันโลกและสร้างความเป็นเมืองให้สำเร็จ แต่ว่าความเป็นเมืองรูปแบบใหม่ ที่ว่า “ใหม่” นั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหนกัน ต้องใคร่ครวญถึงความต้องการด้านอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของครอบครัวของแรงงานอพยพ ทำให้การเคลื่อนย้ายประชากรมีความหมายที่สมบูรณ์ให้ได้” ต้วนเฉิงหรง กล่าว

ต้วนเฉิงหรงยังเปิดเผยอีกว่า การดูแลเอาใจใส่เด็กที่ถูกทอดทิ้งต้องการความเข้มแข็งของครอบครัว “พวกเราพูดมาตลอดว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้งมี 61 ล้านคน แต่พวกเขาไม่เหมือนกัน ในนั้นมีความแตกต่างมาก ระหว่างเด็กที่แม่ออกไปทำงานนอกบ้านกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งประเภทอื่นๆ  มีความแตกต่างที่มากเป็นพิเศษ   พวกเราในตอนนั้นวิจัยปรากฏการณ์นี้เป็นหลักอย่างลึกซึ้ง พบว่าอาจเป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความคิดผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงดูแลบ้าน (男主外、女主内) ที่เป็นแนวทางชีวิตครอบครัวของชาวจีนมาหลายพันปี”

สำหรับต้วนเฉิงหรงแล้ว การดูแลและเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่มาตั้งแต่ลูกเกิด “ปัจจุบันตอนที่พวกเรากำลังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนจากสังคม กลับทำให้หน้าที่ของครอบครัวอ่อนแอลง เรื่องนี้ยังต้องการการเผยแพร่และการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องให้เข้มข้นมากขึ้น”

นายหลี่หมิงซุ่น (李明舜) เลขาธิการควบรองประธานงานสัมมนากฎหมายการสมรสและครอบครัวของสมาคมกฎหมายจีน และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีจีน (中华女子学院) เห็นว่า การแก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง เกี่ยวข้องถึงการประสานกันของผลประโยชน์ทางสังคมรูปแบบต่างๆ เช่น การพัฒนาสังคม การปรับปรุงชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น การพัฒนาตัวพ่อแม่ ผลประโยชน์ของเด็กถูกทอดทิ้ง เป็นต้น แต่ควรทำหลักการสำหรับเด็กก่อนเป็นลำดับแรก “การแก้ปัญหาการคุ้มครองเด็ก ยังเกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่และสิทธิของพ่อแม่ด้วย จุดประสงค์ของการสร้างระบบคุ้มครองคือ เพื่อคุ้มครองและทำให้ผลประโยชน์ของผู้คุ้มครองบรรลุผล ดังนั้น ผู้คุ้มครองยิ่งต้องมีความรับผิดชอบและภาระหน้าที่มากขึ้น อำนาจของผู้พิทักษ์จะสามารถทำให้กลายเป็นจริงได้ เมื่อผู้พิทักษ์ปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น”

หลี่หมิงซุ่นเห็นว่า การบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของครอบครัวในอนาคต ควรมุ่งความสำคัญไว้ที่ประเทศและสังคมว่า จะให้การสนับสนุน การบริการ การชี้นำเรื่องการศึกษาของครอบครัวอย่างไร จึงจะทำให้การศึกษาของครอบครัวมีภาวะแวดล้อมทางสังคมและการสนับสนุนจากสังคมที่ดียิ่งขึ้น

จากข้อมูลที่สภาสตรีแห่งชาติจีน (中国全国妇联) สำรวจเมื่อปี 2014 แสดงให้เห็นว่า มีเด็กชนบทถูกทอดทิ้งทั้งประเทศจีนจำนวนกว่า 61 ล้านคน นั่นหมายถึงเด็กทุกๆ 5 คน  จะมี 1 คนเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง โดยทั่วไปแล้วพวกเขาล้วนเป็นลูกชายลูกสาวของแรงงานอพยพ ที่เติบโตขึ้นมาโดยมีผู้ปกครองเพียง 1 คน หรือไม่ก็ไม่มีผู้ปกครองอยู่เคียงข้าง

การสำรวจที่เกี่ยวข้องพบว่า เด็กที่ถูกทอดทิ้งและถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่า หรือตายาย ใกล้จะมีปริมาณถึง 1 ใน 3 แล้ว โดย  11% ถูกเลี้ยงดูโดยชาวบ้านคนอื่นๆ หรือญาติ แต่มีเด็กอีกอย่างน้อย 2 ล้านคนที่ไม่มีใครเลี้ยงดู เด็กเหล่านี้มักจะถูกทารุณหรือถูกลักพาไปขาย ฉะนั้น จึงพบสถานการณ์ฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง  ตัวอย่างจากการเปิดเผยของสื่อ เมื่อเดือนมกราคม 2015 เด็กชาย 9 ขวบที่ถูกทอดทิ้งคนหนึ่งแขวนคอตาย  หลังจากได้ข่าวว่าแม่ของเขาจะไม่กลับมาบ้านในช่วงปีใหม่

มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ซ่างไห่ (上海师范大学) ทำการสำรวจครั้งหนึ่งพบว่า พ่อแม่ของเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมากต้องออกไปทำงานต่างถิ่น  เพราะครอบครัวมีขนาดใหญ่เกินไปประกอบกับฐานะทางการเงินไม่ดี  95% ของเด็กถูกทอดทิ้งที่ถูกสัมภาษณ์มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ  56% ของครอบครัวเด็กถูกทอดทิ้งมีรายรับต่อเดือนไม่ถึง 1,000 หยวน ส่วนใหญ่เด็กจะติดต่อกับพ่อแม่ทางโทรศัพท์  แต่มีเด็กถึง 38% ที่ได้คุยกับพ่อแม่ทางโทรศัพท์ไม่ถึง 1 ครั้งต่อเดือน

จากการสำรวจที่เกี่ยวข้องยังเปิดเผยอีกว่า สาเหตุที่พ่อแม่ที่เป็นแรงงานอพยพทิ้งลูกให้อยู่บ้าน  เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงเด็กในเมืองสูงมาก และปัญหาเรื่องระบบทะเบียนบ้านของจีนมักทำให้แรงงานอพยพ ไม่มีทางที่จะได้รับสวัสดิการและทรัพยากรทางการศึกษาเต็มรูปแบบจากที่อยู่ใหม่ของพวกเขา

นายหูเจีย (胡佳) ผู้พิทักษ์สิทธิซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมจีนได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขาคิดว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในจีน เริ่มมาตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตงที่ใช้โครงสร้างการแยกเมืองและชนบทออกจากกัน (城乡二元)3 หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงเยือนภาคใต้ในปี 1992 เศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบวางแผนเป็นเศรษฐกิจการตลาด ซึ่งทำให้เด็กถูกทอดทิ้งกลายเป็นกลุ่มพิเศษกลุ่มหนึ่ง  หูเจียกล่าวว่า แรงงานอพยพในจีนไม่มีศักดิ์ศรี ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงลูกของพวกเขาเลย ที่แย่กว่านั้นคือ รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ภาคประชาสังคมเติบโต และได้ดำเนินการก่อกวนและโจมตีกลุ่ม NGO ที่เรียกร้องเพื่อกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น สตรีและเด็ก

เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของเด็กถูกทอดทิ้งของจีนที่มีอยู่จำนวนมาก นางจางจิง (张菁) ผู้รับผิดชอบสิทธิสตรีจีน จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ กล่าวว่า แรงงานอพยพจำเป็นต้องออกไปทำงานข้างนอกเพื่อเลี้ยงครอบครัว นั่นก็เพราะบริษัทและนายทุนลดต้นทุนเพื่อสร้างกำไร บริษัทล้วนตั้งอยู่ในเมือง แต่สิ่งที่แรงงานอพยพได้ตอบแทนมาก็คือ การที่ภรรยาหนีจากไป บ้านแตกสาแหรกขาด ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้น บริษัทหลายแห่งก็จะสามารถตั้งขึ้นในเมืองเล็กๆ ได้ และจำนวนเด็กถูกทอดทิ้งก็จะลดน้อยลง

จางจิงกล่าวว่า ระบบทะเบียนบ้านของจีนและความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท ก็มีส่วนทำให้เกิดการดูถูกอย่างรุนแรงต่อแรงงานอพยพและลูกๆ ของพวกเขา และยังสร้างปัญหาอีกมากมาย เช่น ความยากลำบากในการเข้าเรียน นางกล่าวอีกว่า ถ้าระบบและนโยบายของจีนยังไม่เปลี่ยนแปลง โศกนาฏกรรมแบบนี้ก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไป ลูกๆ ของแรงงานอพยพก็จะไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากได้

หูเจียยังเผยอีกว่า ทางออกของการแก้ต้นตอของปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งคือ ต้องมีการปฏิวัติระบบสังคม พัฒนาภาคประชาสังคม และกำจัดระบบพรรคเดียว ลบภาพเก่าทางระบบสังคมทิ้งไป

จาก สมุดปกขาวสภาพจิตใจของเด็กถูกทอดทิ้งในจีน ปี 2015 เผยว่า มีเด็กที่ถูกทอดทิ้ง 15% ไม่ได้พบพ่อแม่สักครั้งในหนึ่งปี เด็ก 4.3% ไม่ได้ติดต่อกับพ่อแม่เลยตลอดหนึ่งปี จากการสำรวจพบว่า ถ้าแม่ของเด็กอยู่เคียงข้างจะไม่ค่อยเกิดปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาที่หนักที่สุดคือทั้งพ่อและแม่ต่างก็ไม่อยู่ รวมถึงการที่เด็กไม่มีคนใกล้ชิดคอยดูแล  เด็กเหล่านี้ขาดการดูแลในชีวิตประจำวัน เช่น การตื่นนอน การอาบน้ำ การซักผ้า การตัดผม การกินข้าว สุขอนามัยภายในห้อง เป็นต้น  ไม่มีคนคอยช่วยเวลาพบกับความยากลำบาก ขาดการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ ก็ยากที่จะมีความรู้สึกถูกผิดที่ชัดเจนเมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญได้

ปัญหาของเด็กถูกทอดทิ้งมีอยู่มาก ปัจจัยที่ส่งผลกระทบใหญ่ที่สุดคือ โครงสร้างครอบครัวของพวกเขาไม่สมบูรณ์ ความสามารถในการคุ้มครองของผู้คุ้มครองไม่เพียงพอ ยากที่จะปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองได้ เนื่องจากไม่ได้มีชีวิตครอบครัวแบบปกติ จึงไม่สามารถแบกรับภาระด้านศึกษาของครอบครัวได้

รัฐบาลต้องจัดการภาพรวมของนโยบายเศรษฐกิจและประกันสังคมทั้งสองด้าน การลดช่องว่างจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็อาจจะลดการออกไปทำงานต่างถิ่นของพ่อแม่ได้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลทุกระดับของจีนตั้งแต่ศตวรรษนี้เป็นต้นมา ได้ออกชุดนโยบายด้านงานสวัสดิการของเด็กให้มีความเป็นธรรมอย่างเป็นสากล แต่จากมุมมองของการปฏิบัติจริง นโยบายจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ยากจน จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเวลา 30 กว่าปีมานี้ ทำให้แรงงานจำนวนมากในชนบทเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเปิดเผยว่า รัฐบาลต้องร่วมมือกับโครงสร้างทางสังคม ให้ความรักเอาใจใส่ในวัยเด็กกับเด็กถูกทอดทิ้ง ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการปะทุของปัญหาสังคมได้

ห้องของเด็ก 4 คนที่ฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาฆ่าแมลงในเมืองปี้เจี๋ย 
การอ้างอิง

หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า, เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในกุ้ยโจว 4 คนคาดร่วมกันดื่มยาฆ่าแมลงเสียชีวิต(贵州4名留守儿童疑集体服农药身亡). (12 มิถุนายน 2558): A7.

Sina News, หลี่เค่อเฉียงสั่งการคดีเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังเสียชีวิตในปี้เจี๋ย (李克强批示毕节留守儿童死亡事件). หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า (13 มิถุนายน 2558).

Radio Free Asia. เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในกุ้ยโจว 4 คนร่วมกันฆ่าตัวตาย (贵州四名留守儿童集体自杀). [ออนไลน์]. 19 มิถุนายน 2558. แหล่งที่มา:http://www.rfa.org/mandarin/zhuanlan/fuyouluntan/women-06192015101403.html

สำนักข่าวเหรินหมิน (人民网), เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังต้องการครอบครัวที่สัมผัสได้ (留守儿童需要可感触到的家). [ออนไลน์]. 30 ธันวาคม 2558. แหล่งที่มา: http://edu.people.com.cn/n1/2015/1230/c1006-27993501.html

สำนักข่าวซินหัว (新华网), จีนให้เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังมีที่สำหรับวัยเด็ก (中国让留守儿童有处安放童年). [ออนไลน์]. 29 กรกฎาคม 2558. แหล่งที่มา: http://news.xinhuanet.com/politics/2015-07/29/c_1116080382.htm

—————————————————–

ฟุตโน้ต

1 บทความนี้เคยตีพิมพ์ใน “เรื่องเด่นประจำฉบับ” ของวารสารข่าวจีนศึกษา ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2558
2 หมายถึง การที่รัฐบาลจีนให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่รายได้เฉลี่ยน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำสุดในการดำรงชีวิตตามประกาศของรัฐบาลท้องถิ่น โดยใช้ระบบประกันสังคมประกันสิ่งที่ครอบครัวนั้นๆ ต้องการในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
3 โครงสร้างการแยกเมืองและชนบทออกจากกัน หลักใหญ่คือการใช้ระบบทะเบียนราษฎร์ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากรจากชนบทสู่เมือง ซึ่งสร้างความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคร้ายแรงประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในปัจจุบัน

Keywords : ด็กในชนบทของจีน, ครอบครัวชาวจีน, นโยบายสาธารณะของจีน, โครงสร้างทางสังคมจีน, แรงงานอพยพจีน,สิรีธร โกวิทวีรธรรม


Latest articles

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม
ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

โดย ดร. อารีฝีน ยามา นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม เมื่อพูดถึงคำว่า “โลกมุสลิม” หลายคนมักจะเข้าใจว่ามีเพียงแค่ภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จริง ๆ แล้วโลกมุสลิมนั้นกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เพราะนอกจาก

ดร. อารีฝีน ยามา
2019
thaiworld
สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น
สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น

โดย สุดปรารถนา ดวงแก้ว นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการผลิต กา

สุดปรารถนา ดวงแก้ว
2019
thaiworld
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก

The public intellectuals of the Indian Sub-Continent have a great influence on young people's perceptions. Especially the driving system of politics and government They are regarded as "The precursor" through writings and the struggle for independence from the British colonies Therefore not surpris

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
2019
thaiworld
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5

โดย ปภังกร เสลาคุณ ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯ ได้มากเท่ากับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ

ปภังกร เสลาคุณ
2019
thaiworld
การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018
การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018

โดย วินิสสา อุชชิน การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018 วินิสสา อุชชินนักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วเมื่อปี 2013 พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodia People’s Party: CPP) ซึ่งสมเด็จฮุน เซน เป็นประธานพรรค ชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่งในรัฐสภา

วินิสสา อุชชิน
2018