ชื่อวารสาร เอเชียปริทัศน์ ปีที่ 37 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2559
แนวโน้มและทิศทางของ อาเซียน ภายหลังการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ผู้แต่ง
อังคณา กมลเพ็ชร์
สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์
ปีที่พิมพ์
2559
ราคา
150 บาท
บทบรรณาธิการ
ชุมชนโลกกำลังให้ความสำคัญกับแนวโน้มและทิศทางของอาเซียนภายหลังการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งวารสารเอเชียปริทัศน์ฉบับนี้ได้ออกมาภายหลังการรวมตัวของประชาคมได้หนึ่งปี การรวมตัวดังกล่าวนับเป็นการดำเนินงานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศสมาชิกทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และในระดับโลก เนื่องจากปรากฏการณ์การรวมตัวนี้จะส่งผลกระทบให้เกิดความร่วมมือที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้และความตื่นตัวต่อปัญหาความขัดแย้งและความมั่นคงของรัฐชาติ และภูมิภาคอาเซียนโดยรวม อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงการดำเนินกลไกและมาตรการการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม ดังนั้น ความเข้าใจพลวัตของอาเซียนในทุกมิติไม่เพียงแต่จะขยายความรู้และบทบาททางวิชาการ แต่ยังเอื้อต่อการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศสมาชิกในภูมิภาคแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่เป็นปัญหาความมั่นคงของภูมิภาคในปัจจุบันและส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในวารสารฉบับนี้ได้นำเสนอบทความ ‘บทสำรวจประวัติศาสตร์ปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16-19’ ซึ่งได้คลี่คลายให้เห็นถึงความสำคัญของทะเลจีนใต้ สาเหตุและผลกระทบของปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ในมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ และพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่ยุคอาณานิคมของโลกตะวันตก ระบบความสัมพันธ์แบบจักรวรรดิ จนถึงยุคที่การก้าวขี้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกตะวันออกอย่างจีน ซึ่งนับเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจน
บทบาทของประเทศจีนที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกและหลายประเทศกำลังให้ความสนใจ เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและเข้าใจถึงบริบทพัฒนาการทางสังคมประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะมิติการดำเนินนโยบายของประเทศจีนในเขตปกครองมณฑลยูนนาน ซึ่งประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยที่มาจากชนเผ่าหลากหลาย บทความ ‘วิวัฒนาการการปกครองของรัฐบาลกลางของจีนที่มีต่อชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินจนถึง ค.ศ. 1950’ ได้สะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของชนชาติต่างๆ ตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการรวมชาติจีนเป็นปึกแผ่นโดยกษัตริย์ราชวงศ์ฉิน ซึ่งให้ความสำคัญกับการปกครองที่ควบคุมผ่านหัวหน้าชนเผ่า เรื่อยมาจนถึงระบบเจ้าเมืองที่แต่งตั้งหัวหน้าชนกลุ่มน้อยปกครองเขตท้องที่ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์หยวน จนกระทั้งถึงราชวงศ์ชิง และการปฏิรูปสังคมครั้งสำคัญในสมัยสาธารณรัฐจีนในสมัย ดร.ซุนยัดเซ็น จนกระทั้งถึงสมัยรัฐบาลจอมพลเจียงไคเช็ค สถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ.1949 รัฐบาลจีนส่วนกลางได้ดำเนินนโยบายอย่างไรที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคงและเอกภาพการเมืองการปกครอง
ความขัดแย้งของพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีของไทย เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ซึ่งบทความ ‘ความรู้ในพื้นที่สาธารณะกับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี’ ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ หรือที่เรียกตามการแบ่งกลุ่มในการดำเนินงานตาม track 2 กับแนวทางการสร้างกระบวนการสันติภาพ การให้ความสำคัญกับบทบาทขององค์กรเหล่านี้ แสดงนัยสำคัญให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยองค์ประกอบหลากหลาย แต่องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญคือ ความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของรัฐใดรัฐหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่ต้องรับรู้ร่วมกันเพื่อสนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นสันติภาพของภูมิภาคอย่างแท้จริง
การรวมตัวของประชาคมอาเซียนนับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในการพัฒนานโยบายตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดจากบทความเรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อผลกระทบด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย” ซึ่งผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่อยู่อาศัยได้ประโยชน์อย่างไรและจะปรับตัวอย่างไรจากการเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน และภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไรทั้งด้านส่งเสริมนโยบายทางเศรษฐกิจและการพัฒนาการวิจัยในด้านฐานข้อมูลที่จะช่วยในการดำเนินกลยุทธ์ของภาคธุรกิจ ซึ่งผลักดันให้ภาครัฐของไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนต้องดำเนินนโยบายให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง เนื่องจากปริมาณโครงการก่อสร้างและการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย การย้ายฐานการผลิตของบรรษัทต่างชาติ การลงทุนของนักธุรกิจไทย การขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณชายแดน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางการค้า รูปแบบการลงทุนและการเคลื่อนย้ายของแรงงาน การพัฒนากฎระเบียบทางการค้า วัฒนธรรมการบริโภคสินค้า เป็นต้น
ปัจจัยการเคลื่อนย้ายภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงในการพัฒนาเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมืองไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายด้วยปัจจัยทางธรรมชาติ ปัจจัยทางสังคม หรือปัจจัยด้านประชากรเพื่อมาเป็นแรงงานหรือเพื่อโอกาสทางการศึกษาทั้งแบบชั่วคราวหรือถาวรเป็นเรื่องสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและเครือข่ายทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญกับภาวะที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ สภาพความเป็นอยู่ สภาพการทำงาน การปรับตัวทางสังคมวัฒนธรรม ภาวะทางจิตใจของผู้คนที่โยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งบทความเรื่อง “ชีวิต การปรับตัวและความคาดหวังของผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย” ได้ศึกษาให้เห็นบริบทสำคัญของการย้ายถิ่นภายในประเทศซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ภาครัฐจะได้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจกับปัจจัยแวดล้อมเพื่อพัฒนาไปสู่นโยบายเชิงบูรณาการกับแผนพัฒนาประเทศเพื่อรองรับแผนพัฒนาการเคลื่อนย้ายของประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ซึ่ง
กำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นมหานครแห่งอาเซียนวารสารเอเชียปริทัศน์ฉบับนี้ได้รวมบทแนะนำหนังสือเรื่อง “วาทกรรมการทูตจีนร่วมสมัย: ความหมายและบทบาท” (Contemporary Chinese Diplomatic Discourse: Meaning & Role) ซึ่งเขียนโดย พัชนี ตั้งยืนยง ผู้เขียนบทแนะนำ หนังสือได้สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของการใช้วาทกรรมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ การทูต เศรษฐกิจการค้าและการเมืองของจีน ซึ่งทำให้เกิดภาพสะท้อนความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงด้านความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจสังคมของสมาชิกของประชาคมอาเซียนกับภูมิภาคอื่นของโลกได้เป็นอย่างดี
อังคณา กมลเพ็ชร์
สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์
สารบัญ
บทสำรวจประวัติศาสตร์ปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16- 19
อนันท์ธนา เมธานนท์ 1
ความรู้ในพื้นที่สาธารณะกับการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี
อิมรอน ซาเหาะ 29
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
ทัพพ์เทพ ภัคกระนก 53
วิวัฒนาการนโยบายการปกครองของรัฐบาลกลางของจีนที่มีต่อชนกลุ่มน้อยในมณฑล
ยูนนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินจนถึงค.ศ.1950
นรชาติ วัง 77
ชีวิต การปรับตัวและความคาดหวังของผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย
วรัญญา จิตรผ่อง 111
บทความปริทัศน์หนังสือ: วาทกรรมการทูตจีนร่วมสมัย: ความหมายและบทบาท
สิรีธร โกวิทวีรธรรม . 127