สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

“มาสคอต” คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น (ตอนที่ 2 : มาสคอตกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม)

โดย กฤษบดินทร์ วงค์คำ


(ตอนที่ 2 : มาสคอตกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม)

คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการพยายามที่จะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจไทย 4.0 โดยมีมาตรการส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและเอกชนให้เกิดการสร้างระบบเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยนำจุดแข็งของประเทศ อย่างทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างขีดความสามารถให้กับระบบเศรษฐกิจผ่านการสรรค์สร้างนวัตกรรมจากต้นทุนดังกล่าว[1] 

            เป้าหมายหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระแสใหม่ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้นและระยะยาว คือการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (Creative and Cultural Economy) เนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีศักยภาพและคุณค่าในตัวเอง สามารถนำมาสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้จำนวนมาก ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมโดยการเน้นสร้างนวัตกรรมจากทุนทางวัฒนธรรม และการใช้ความคิดสร้างสรรค์จึงถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกระแสใหม่ได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย พบว่านับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยมีอัตราการเจริญเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ย (Compound Average Growth Rate) อยู่ที่ร้อยละ 5.61 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ยของสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่มีการเติบโตเพียงร้อยละ 5.24 โดยเฉพาะในปี 2017 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมดักล่าวมากถึง 1.4 ล้านล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 9.09 ของ GDP โดยที่พบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีมูลค่ามากที่สุดถึงร้อยละ 25.77 จึงเป็นที่น่าคิดว่าหากประเทศไทยได้มีการลงทุนในภาคเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในส่วนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเป็นการเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไปได้อีกมาก[2]

https://web.tcdc.or.th/media/files/images/Sep%202018/Sep%20Cover%202018/graph1.jpg
ที่มาภาพ : https://web.tcdc.or.th/th/Articles/Detail/CreativeEconomyinAction

ขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศแล้วกลับพบว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ได้จากการท่องเที่ยวในช่องทางต่างๆ ได้กลับเข้าไปพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ทำให้หากพิจารณาถึงโครงสร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันจึงอาจกล่าวได้ว่ายังคงขาดการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพอยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่องของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาคนในพื้นที่ การขาดระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพที่จะอำนวยให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงตลอดจนไม่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างยั่งยืน หรือแม้กระทั่งเรื่องของการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหลายๆ แห่งทั่วประเทศที่ยังคงขาดโอกาสและกลยุทธ์ในการสร้างแรงกระตุ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอีกด้วย

            ดังนั้น แนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทยอย่างยั่งยืนจึงจำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการร่วมกับการพัฒนาในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวซึ่งต้องพัฒนาร่วมไปกับการสร้างเสริมองค์ความรู้ให้กับคนในพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างบรรยายกาศที่เอื้อให้เกิดการท่องเที่ยวด้วย นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการวางแผนและการหาแนวทางการส่งเสริมให้ตรงจุดโดยให้ยึดโยงการพัฒนาเข้ากับการส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมเพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ที่เน้นให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพแก่ท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

            ในการนี้ เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จจากการสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลได้อย่างชัดเจน ตัวอย่างของกรณีศึกษาจากประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้ความสำคัญและมีความพยายามที่จะยกระดับการท่องเที่ยวท้องถิ่นของตนให้กลายเป็นนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ยั่งยืนและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นร่วมไปด้วยกันได้ ความพยายามดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีโอกาสในการคิดค้นกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ของตนด้วยการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมือง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก็จะมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การนำเสนอมุมมองของอัตลักษณ์และของดีเด่นแต่ละพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักเพื่อเน้นสร้างให้เกิดความประทับใจแรกพบจนส่งผลเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดเป็นแรงดึงดูดในการท่องเที่ยว รวมถึงอาจนำไปสู่การเชื่อมโยงให้เกิดการเติบโตของธุรกิจท้องถิ่นแขนงต่างๆ ในพื้นและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งผลให้เกิดการขยายตัวของสินค้าวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์สู่ตลาดต่างประเทศซึ่งถือเป็นการสร้างรายได้กลับเข้าประเทศได้อย่างมหาศาลต่อไป ภาพเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีในประเทศญี่ปุ่น จึงนับได้ว่าแนวทางดังกล่าวถือเป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง

            อย่างไรก็ตาม หนึ่งในกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากและทำให้แนวคิดที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นของญี่ปุ่นสามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นั่นคือการสร้าง “มาสคอตประจำเมือง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกที่มีประสิทธิภาพต่อการกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นได้เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยบุคลิกลักษณะที่โดดเด่นและเป็นมิตรของคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่เป็นมาสคอตประจำเมืองช่วยเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่นกับผู้คนให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์ถึงกันได้อย่างน่าสนใจ ทำให้นัยสำคัญของมาสคอตประจำเมืองคือการประชาสัมพันธ์เมืองผ่านตัวแทนเมืองที่เป็นคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนที่มีลักษณะเด่นในตัวที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของเมืองประกอบอยู่ด้วยอย่างกลมกลืนเพื่อที่มาสคอตจะสามารถสื่อสารให้ผู้คนทั่วไปทราบถึงจุดเด่นของเมืองผ่านจากการมองและการประชาสัมพันธ์ของมาสคอตประจำเมืองซึ่งทำให้เกิดเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของมาสคอตประจำเมือง นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กระจายตัวเป็นวงกว้างได้แล้วนั้นยังสร้างให้เกิดความสำนึกรักท้องถิ่นและความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่นของผู้คนในพื้นที่อีกด้วย กล่าวได้ว่าการสร้างมาสคอตประจำเมืองถือเป็นนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่อย่างหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศญี่ปุ่นได้อย่างงดงาม

            โดยเฉพาะในช่วงปี 2010-2015 ถือได้ว่าเป็นยุคทองของการสร้างมาสคอตประจำเมืองในญี่ปุ่นก็ว่าได้ โดยเห็นได้จากในท้องถิ่นและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นได้มีการสร้างมาสคอตของตนในอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติที่ชื่นชอบและหันมาท่องเที่ยวตามรอยมาสคอตที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ประกอบกับการจัดให้มีการประกวดมาสคอตแห่งชาติขึ้นอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า “ยูรุเคียระกรังด์ปรีซ์” (Yuru Kyara Guranpuri) หรือ “Yuru-chara Grand Prix” ซึ่งเป็นการประกวดมาสคอตระดับชาติที่ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2010 โดยถือเป็นการประกวดที่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในตัดสินผลการประกวดอย่างยุติธรรมด้วยการเปิดให้ประชาชนลงคะแนนเลือกมาสคอตที่ตนชื่นชอบอย่างอิสระเพื่อหาผู้ชนะเลิศในระดับประเทศ ซึ่งในปี 2011 มาสคอตหมีคุมะมงของจังหวัดคุมาโมโต้ก็ชนะเลิศและได้สร้างปรากฏการณ์ความโด่งดังไปทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลกได้สำเร็จ[3] สร้างเม็ดเงินอันได้จากนักท่องเที่ยวผ่านการประชาสัมพันธ์ของคุมะมงให้กับจังหวัดคุมาโมโต้และประเทศญี่ปุ่นจำนวนมหาศาล หลังจากนั้นการประกวดยูรุเคียระกรังด์ปรีซ์จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวระดับชาติของญี่ปุ่นที่ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศตื่นตัวหันมาสร้างมาสคอตของตนกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การประกวดมาสคอต ในปี 2015 มีมาสคอตที่เข้าร่วมการประกวดจำนวนมากถึง 1,727 ตัว[4]

Image for post
ที่มาภาพ : https://medium.com/@tokyoesque/billion-dollar-mascots-japans-cute-unlikely-business-accelerators-9731976e9e84

          

            ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนได้หันมาให้ความสำคัญกับการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วจากทุนทางวัฒนธรรมของตนเพื่อนำไปสู่การยกระดับให้เกิดผลลัพธ์อย่างจริงจัง ในขณะที่เมื่อหันมามองในส่วนของประเทศไทยพบว่าแม้ทางภาครัฐและเอกชนจะมีความพยายามในการส่งเสริมให้เกิดการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นในหลายด้านๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมสินค้าโอทอปท้องถิ่น การเกิดขึ้นของถนนคนเดินหรือถนนสายวัฒนธรรมประจำจังหวัด รวมถึงโครงการพัฒนาและส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ เป็นต้น หากแต่ทุกวันนี้แนวทางดังกล่าวก็ยังคงไม่สามารถสร้างให้เกิดเป็นภาพลักษณ์เชิงบวกที่น่าดึงดูดเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในท้องถิ่นหรือแม้แต่ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลได้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร

            ด้วยเหตุนี้ เราจึงตั้งข้อสังเกตไปว่าหากเราจะนำโมเมลความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นนี้มาปรับใช้ในประเทศไทยเรานั้น เราจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน และการสร้างมาสคอตประจำเมืองในแบบไทยๆ จะพอเป็นคำตอบที่ช่วยคลี่คลายปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในประเทศได้หรือไม่ ? รวมถึงจะนำไปสู่การส่งเสริมนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแนวใหม่ให้เกิดขึ้นกับประเทยไทยได้มากน้อยเพียงใด

          


รายการอ้างอิง

การปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่-เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy). สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ     (สวทช.). สืบค้นจาก https://www.nstda.or.th/th/news/5046-digital-economy. (เข้าถึงวันที่ 2 มีนาคม             2563).

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และรานี อิฐรัตน์. เศรษฐกิจสร้างสรรค์: จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้น         จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648899. (เข้าถึงวันที่ 18 เมษายน 2563).

เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ. Yuru Kyara : Mascot War. สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม. สืบค้นจาก www.tpapress.com   /knowledge_ detail.php?k=86. (เข้าถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563).


              [1] การปฏิรูปเศรษฐกิจกระแสใหม่-เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สืบค้นจาก https://www.nstda.or.th/th/news/5046-digital-economy , (เข้าถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563).

              [2] ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ และรานี อิฐรัตน์, เศรษฐกิจสร้างสรรค์: จากความคิดสร้างสรรค์ สู่มูลค่าเศรษฐกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/648899, (เข้าถึงวันที่ 18 เมษายน 2563).

              [3] เอกณัฏฐ์ สวัสดิ์หิรัญ, Yuru Kyara : Mascot War, สำนักพิมพ์ภาษาและวัฒนธรรม, สืบค้นจาก www.tpapress.com/knowledge_ detail.php?k=86 , (เข้าถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563).

              [4] ________, เรื่องเดียวกัน, (เข้าถึงวันที่ 10 มีนาคม 2563).


บทความล่าสุด

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา
ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผ

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ Di Bawah Lindungan Ka’bah หรือ ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เป็นนวนิยายของ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา หรือ ฮามก้า (Hamka) นักคิดนักเขียนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังกะเบา จากเกาะสุมาตรา ที่ชาวอินโดนีเซียเคารพรั

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2020 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เร

ดร.ศราวุฒิ อารีย์
2563
กระแสเอเชีย
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย ชายชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมการแสดง Nyida Parik ที่ลานหญ้าของหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย เข็มนาฬิกาแสดงเวลาตีห้าเศษ แต่แสงอาทิตย์ได้ส่องเหนือหุบเขาบาซาร์ (Basar) จนสว่างไสวแล้ว เช้าวันนี้ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้มาชมการซ้อมเต้น Nyida Parik

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2563
กระแสเอเชีย
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”

แปลและเรียบเรียงโดย กรองจันทน์  จันทรพาหา (ที่มาภาพ : https://ss0.bdstatic.com/70cFuHSh_Q1YnxGkpoWK1HF6hhy/it/u=2739498971,358910417&fm=26&gp=0.jpg ) ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ

ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา
2563
กระแสเอเชีย