โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันสั่นคลอนด้วยเหตุขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างจีนและกลุ่ม Trilateralism อันประกอบไปด้วยอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น1 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ คู่ขัดแย้งดังกล่าวไม่ต่างจากกลุ่มทุนใหม่ที่พร้อมยืนหยัดในเวทีโลกด้วยเครือข่ายตัวเองกับทุนเก่าที่ยังต้องการรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมความขัดแย้งหลังบทความบางฉบับพยากรณ์ท่าทีของไทยว่าสุดท้ายอาจจะเลือกไปเข้ากับฝ่ายจีนอันเห็นได้จากข้อตกลงยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 25622 ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดระหว่างไทยกับมหาอำนาจเก่า ความเป็นไปได้ของการเลือกข้างขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการแสวงหาพลังสนับสนุนจากรัฐบาลวอชิงตัน3 เมื่ออีกฝ่ายปฏิเสธ ไมตรีจากอีกฝ่ายย่อมได้รับการตอบรับในที่สุด แต่คำถามคือทำไมประเทศไทยต้องถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองฝ่ายในเมื่อไทยไม่ต่างจากผู้อยู่นอกวง และหากไม่นับความเห็นของนักวิชาการ จุดยืนของไทยจริงๆ ณ เวลาปัจจุบันเป็นอย่างไร สามารถคาดเดาได้จากตัวบ่งชี้อะไรบ้าง
เริ่มจากคำถามประการแรกประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์เพราะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน นี่สร้างแรงจูงใจให้มหาอำนาจหลายฝ่าย เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่นหันมาพัฒนาความเชื่อมโยงกับไทยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง4 ที่ตั้งของไทยยังจัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะการได้ไทยเป็นพันธมิตรจะช่วยให้สหรัฐฯ เดินหน้าแผนการปิดล้อมจีนไปอีกขั้น ในทางกลับกันจีนจะสามารถประกันความมั่นคงด้านใต้ของตัวเองถ้าไทยตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนทั้งในทางการเมืองและทหารกับรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะอย่างไรทำเลของไทยเชื่อมกับทางออกทะเลสองฟากมหาสมุทรซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลก จึงปรากฏข้อเสนอจากฝ่ายจีนให้ไทยขุดคลองเชื่อมสองฝั่งทะเลอันจะย่นระยะเวลาเดินทางข้ามสมุทร5 ทั้งยังสร้างความได้เปรียบในด้านการสู้รบทางทะเล (หากเกิดขึ้นจริง) ให้กับฝ่ายที่คุมเส้นทางเดินเรือ
กระนั้นที่ตั้งไม่ใช่เหตุผลเดียวของการมุ่งหมายไทย เพราะไทยมีความสำคัญอีกหลายอย่างอันจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงในอนาคต อย่างที่หนึ่งประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรทางการเกษตรรวมไปถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางอาหารหรือผลผลิตอันเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร พื้นที่ทางการเกษตรของไทยมีปริมาณมากถึง 40.62% ของพื้นที่ทั้งประเทศ 29% จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูก ศักยภาพทางเกษตรกรรมของไทยทำให้มีข่าวกว้านซื้อที่ดินโดยชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาหรับ6 อย่างที่สองประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค การแพทย์ และการคมนาคม แม้ในด้านโลจิสติกส์ไทยก็มีบริการครบวงจร ได้แก่ บริการคลังสินค้า บริการจัดส่งพัสดุ บริการด้านบรรจุภัณฑ์ บริการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ การยกขนสินค้าขนส่งทางทะเล ฯลฯ7 อย่างที่สามประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในแง่ของการผลิตและการลงทุน นอกจากสินค้าทางการเกษตรแล้วไทยยังเด่นในด้านงานบริการรวมทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ยานยนต์ ฯลฯ8 เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติปี พ.ศ. 2562 ก็มีมากถึง 22,153 ล้านบาท (ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน)9 นี่บ่งบอกความเชื่อมั่นต่อทรัพยากรบุคคล ระบบสาธารณูปโภค โอกาสทางการตลาด และกระบวนการที่เกี่ยวข้องของไทย อย่างที่สี่ประเทศไทยมีความเหมาะสมสำหรับการพักอาศัยจนกลายเป็นปลายทางยอดนิยมของคนหลังวัยเกษียณ10 การสำรวจตัวเลขช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 เผยว่าประชากรมากที่สุด 10 อันดับแรกมาจากประเทศอังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และนอร์เวย์ตามลำดับ สภาพอากาศ การคมนาคม ความทันสมัยคือแรงจูงใจของการย้ายมาพำนักในประเทศไทย
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์บวกความพร้อมในด้านต่างๆ ดังยกตัวอย่างข้างต้น ประเทศไทยจึงเป็นเสมือนหน่วยสนับสนุนที่ช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่คู่ขัดแย้งได้ดี เป็นความได้เปรียบทั้งในระดับรัฐและประชาชน การเอียงข้างไปยังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างชัดเจนจึงหมายถึงการสร้างภาวะศัตรูกับอีกฝ่าย
อย่างไรก็ตามแม้ภาพภายนอกดูเหมือนว่าไทยอาจจะเอนเอียงไปทางจีนด้วยเหตุว่ารัฐบาลไทยมีปัญหาเรื่องการรัฐประหารสำหรับสหรัฐฯ แต่ท่าทีที่แสดงออกผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระดับรัฐบ่งชี้ว่าไทยยังคงยึดมั่นแนวทางสายกลางอันเป็นธรรมเนียมการทูตตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมตามที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนายเตช บุนนาคกล่าวว่าการเลือกข้างย่อมไม่ใช่ทางเลือกสำหรับประเทศเล็กอย่างไทย แต่ควรแสวงหาการพึ่งพาอาศัยและรักษาระยะห่างที่เหมาะสม11 ในกรณีคอคอดกระซึ่งมีข่าวว่ารัฐบาลจีนพร้อมสนับสนุน รัฐบาลไทยก็ไม่ได้แสดงสัญญาณตอบรับอย่างชัดเจนด้วยต้องคำนึงถึงปัญหาความมั่นคงที่จะตามมา12 กระทั่งความร่วมมือรถไฟไทย-จีนก็ยังล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้แต่เดิม ในขณะเดียวกันไทยเลือกกระจายความสำคัญไปยังญี่ปุ่น สหรัฐ จีน และอีกหลายประเทศ ตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ การประกาศความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยเป็นผู้ประสานงานกับ JETRO ของทางญี่ปุ่น13
นอกจากนี้ไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและยึดมั่นในอุดมการณ์ของอาเซียนอย่างแนบแน่น แนวทางของอาเซียนยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการวางตัว แม้บางประเทศจะเปิดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบกับจีน แต่บางประเทศเลือกที่จะสงวนบทสรุปไว้เป็นความลับ14 แต่กล่าวได้ว่าอาเซียนพยายามต่อสู้เพื่อรักษาจุดยืนไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้เสมอมาด้วยอาเซียนมุ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่าจะหาสังกัดสำหรับทั้งประชาคม15 ตราบใดที่อาเซียนไม่มีฉันทามติ โอกาสที่ไทยจะประกาศกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายใดเป็นพิเศษย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
เหตุปัจจัยอย่างสุดท้ายคือไทยยึดถือผลประโยชน์ร่วมเป็นหลัก จีนยังเจือภาพของผู้รุกล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าการพึ่งพากันและกันอย่างเท่าเทียม แนวทางความสัมพันธ์แบบเดิมจึงยังคงดำเนินต่อไป ที่สำคัญพลังความร่วมมือไม่ได้มาจากภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ควรพิจารณาภาคประชาชนไปพร้อมกัน ณ เวลาปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีชาติใดครองความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไทยได้สมบูรณ์ ความกลัวสหรัฐฯ จะเข้ามาใช้พื้นที่ของไทยเพื่อประโยชน์ทางการทหารยังคงพบเห็นได้ในหมู่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ความกลัวจีนครอบงำพื้นที่ในทางเศรษฐกิจและสังคมก็ปรากฏให้เห็นดาษดื่น ความใกล้ชิดกับจีนจึงยังไม่อาจเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็เช่นกัน คำตอบจะไม่เป็นอย่างอื่นจนกว่ามีเหตุปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาผลักดัน
รายการอ้างอิง
1Nye, Joseph, Biedenkopf, Kurt, and Shiina, Motoo. 1991. Global Cooperation after the Cold War: A Reassessment of Trilateralism, A Report to the Trilateral Commission: 41. New York: The Trilateral Commission.
2Bangprapa, Mongkol. 2019. “China, Thailand Agree to Boost Ties.” Bangkok Post, 20 September, General. https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1754109/china-thailand-agree-to-boost-ties.
3Pongsudhirak, Thitinan. 2020. “Thailand’s Strategic Drift: Local Politics and Superpower Competition.” [Website]. The Australian Strategic Policy Institute Blog Accessed 21 July. https://www.aspistrategist.org.au/thailands-strategic-drift-local-politics-and-superpower-competition/?fbclid=IwAR2nDs16sfz1r8Z0sVcxbtptvovVz70Z6LTFuVTHhCT_PVZoa_jCMKeLYRQ.
4Korybko, Andrew. 2016. “Throwing Thailand into a Hybrid War Tumult.” [Website]. Global Research Accessed 21 July. https://www.globalresearch.ca/throwing-thailand-into-a-hybrid-war-tumult/5540888?fbclid=IwAR1G76k0wyO_P1EirEMo_Cu2p73Vp4Ezg1ZoMSdqbNA0nILuTwLVBCXaz58.
5นรนารถ, นพ. 2563. “คลองไทย จีนขุด ใครได้ประโยชน์.” ผู้จัดการออนไลน์, 19 มกราคม, บทความ. https://mgronline.com/daily/detail/9630000005935.
6จันทร์อ่อน, นนทกานต์. 2557. ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สํานักวิชาการ สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา.
7โสรัตน์, ธนิต. 2557. ” ไทยกับการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาค 2, ปทุมธานี.
8ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร. 2556. การศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพการเกษตรของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียน กรณีศึกษา กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์. กรุงเทพฯ: ส านักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.
9ฐานเศรษฐกิจ. 2562. “ไทยยังเนื้อหอม ต่างชาติยังสนลงทุน.” ฐานเศรษฐกิจ, 3 พฤศจิกายน, การค้า – การเกษตร. https://www.thansettakij.com/content/415990.
10ผู้จัดการออนไลน์. 2562. “ไทยติด 1 ใน 5 ต่างชาติใช้ชีวิตหลังเกษียณ ตลาดสินค้าบริการผู้สูงวัยบูม.” ผู้จัดการออนไลน์, 11 เมษายน, ข่าวธุรกิจการตลาด https://mgronline.com/business/detail/9620000035764.
11หยุ่น, สุทธิชัย. 2562. “วิเทโศบาย iPhone-Huawei ในภาวะไทยถูกกดดันให้เลือกข้าง.” ไทยโพสต์, 1 กรกฎาคม, กาแฟดำ. https://www.thaipost.net/main/detail/39817.
12มติชนทีวี. 2558. เมื่อจีนเสนอ ขุดคอคอดกระ นายกฯ ประยุทธ์ มองเรื่องนี้อย่างไร? California: Youtube LLC. ข่าว.
13ประชาชาติธุรกิจ. 2562. “10 ปีอุตสาหกรรม “ไทย-ญี่ปุ่น” สานต่อนโยบายส่งเสริม ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ดึงญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม.” ประชาชาติธุรกิจ, 29 สิงหาคม เศรษฐกิจในประเทศ https://www.prachachat.net/economy/news-365961.
14โล่ห์พัฒนานนท์, ฐณยศ. 2562. “ทางสายไหมใหม่ในอาเซียน: หนทางสู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืน?” เอเชียปริทัศน์ 40 (1):1-36.
15Tay, Simon, and Wau, Jessica. 2019. “ASEAN Fights to Stay Neutral in the US–China Contest.” [Website]. East Asia Forum Accessed 21 July. https://www.eastasiaforum.org/2019/12/03/asean-fights-to-stay-neutral-in-the-us-china-contest/.