โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2020 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน พร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าและยังถือเป็นการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยในรอบ 30 ปี
ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลสะอูด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย กับนายอาดิล บิน อะหมัด อัล-นูบีร รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป”
เรื่องนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะถือเป็นความก้าวหน้าในความพยายามของไทยมาช้านานที่ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย อะไรคือปัจจัยอันทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง เป็นคำถามที่ผู้เขียนอยากลองอธิบายในบทความนี้แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องของการเข้าถึงข้อมูล “วงใน” ที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจอีกมาก แต่ก่อนที่จะตอบคำถามหลักของบทความ ขออนุญาตพาพวกเราย้อนกลับไปพิจารณาต้นตอปัญหาความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 30 ปีเสียก่อน
ย้อนรอยสัมพันธ์แตกร้าว: ไทย-ซาอุดิอาระเบีย
หากย้อนอดีตไปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียคือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 1989 โดยตำรวจไทยไม่สามารถที่จะสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้
ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1990 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดิอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน รวมทั้งหมดเป็น 4 ศพ แต่ตำรวจไทยก็ยังคงไม่สามารถจับคนร้ายตัวจริงมาลงโทษได้ มีการจับตัวผู้ต้องหามาสอบสวนเหมือนกัน แต่ก็ผิดตัว
ในเดือนเดียวกัน นายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-สะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาจึงมีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา “อุ้ม” นายอัลรูไวลี่ไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดิอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้
กรณีนี้ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดิอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย- ซาอุดิอาระเบียไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายซาอุดิอาระเบีย ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศอีกด้วย ตำรวจไทยไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการกลับส่งคืนให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร “บลูไดมอนด์” เม็ดใหญ่สุด
หนักหนาสาหัสไปอีก เมื่อของกลางในส่วนที่ติดตามกลับมาได้ ยังมีการเอาไปปลอมแปลงก่อนเอาไปคืนให้ซาอุดิอาระเบียอีกด้วย ทั้งหมดจึงเป็น เรื่องของ “เหตุซ้ำกรรมซัด” ที่สร้างความอึดอัดเจ็บแค้นต่อซาอุดิอาระเบียอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งกรณีฆาตกรรมนักการทูต กรณีเพชรซาอุฯ และกรณีการอุ้มฆ่า “อัลรูไวลี่”
หากถามว่ากรณีใดสำคัญที่สุดที่ทางการไทยต้องรีบคลี่คลายเป็นลำดับแรก เราคงต้องกลับมาพิจารณาถึงลักษณะต้นตอของแต่ละกรณีปัญหา
1.กรณีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะเกิดจากต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย อันเกิดจากการที่ซาอุดิอาระเบียได้เข้าสลายม็อบในช่วงพิธีฮัจญ์เมื่อ ค.ศ. 1987 จนทำให้ชาวอิหร่าน (ผู้ก่อม็อบประท้วงรัฐบาลสหรัฐฯ และอิสราเอล) ตายไปกว่า 200 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย ไม่เฉพาะในประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศ
2. กรณีลักลอบขโมยเพชรซาอุดิอาระเบีย ลักษณะปัญหานี้เกิดจากการกระทำผิดของปัจเจกบุคคล ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นคนไทย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในทางกลับกัน การที่เพชรซาอุถูกลักขโมยอย่างไม่ยากนัก ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหละหลวมของระบบการรักษาความปลอดภัยของทางซาอุดิอาระเบียเองด้วย ฉะนั้น จึงต้องยอมรับสภาพและรับผิดชอบร่วมกัน แต่เจ้าหน้าที่ไทยก็ทำผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัยจนได้ เมื่อทางซาอุดิอาระเบียจับได้ว่ารายการเพชรบางส่วนที่ส่งคืนเป็นของปลอม
3. คดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี่ กรณีนี้ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรง เพราะแทนที่เราจะเชื่อมโยงการฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบียกับกรณีความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย เรากลับเข้าใจว่าการตายของนักการทูตซาอุดิอาระเบียเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องการจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดิอาระเบีย จนนำไปสู่การ”อุ้ม” “อัลรูไวลี่” ไปกักขังไว้และบีบบังคับให้สารภาพผิด แต่ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การเสียชีวิตของนักธุรกิจซาอุดิอาระเบียรายนี้อย่างเป็นปริศนา
ฉะนั้น กรณีอัลรูไวลี่จึงมีความสำคัญที่สุดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เพราะการที่ไทยไม่สามารถจับคนฆ่าเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดิอาระเบีย และไม่สามารถนำเพชรของกลางที่ถูกขโมยมาให้ซาอุดิอาระเบียได้ทั้งหมดนั้น ถือเป็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานฝ่ายที่เกี่ยวข้องของไทย แต่การ “อุ้มฆ่า” อัลรูไวลี่ถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทยโดยตรงที่ยากจะให้อภัยได้
ไทยกับการดำเนินคดีกรณี “อัล-รูไวลี่”
หากมองจากมุมของซาอุดิอาระเบียเอง คดีอัลรูไวลี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะประการแรก อัลรูไวลี่เป็นหนึ่งในสมาชิกของราชวงศ์อัล-สะอุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย พูดง่ายๆ คือเป็นเชื้อพระวงศ์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ
ประการที่สองคือ ในธรรมเนียมปฏิบัติของระบบชนเผ่าอาหรับนั้น การถูกทำร้ายจนตายของสมาชิกถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการชดใช้ด้วยชีวิต (หรืออาจเจรจาชดเชยเป็นสินไหม) ในอดีตความขัดแย้งส่วนตัวจนถึงระดับที่เอาชีวิตกันระหว่างสมาชิกของ 2 ชนเผ่า อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสงครามนองเลือดที่ยื้อเยื้อเลยทีเดียว การตายหรือการหายตัวไปของอัลรูไวลี่จึงกลายเป็นกรณีที่สร้างความเจ็บแค้นต่อสมาชิกชนเผ่าคนอื่นๆ ที่เขาสังกัดอยู่
ประการสุดท้าย การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของอัลรูไวลี่ก่อให้เกิดประเด็นยุ่งยากทางหลักการศาสนาต่อครอบครัวของเขาทันที เพราะการไม่รู้แน่ชัดว่าเขาตายหรือยัง ทำให้การแบ่งมรดกให้หมู่เครือญาติไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนั้น หากภรรยาของเขาต้องการแต่งงานใหม่ เธอก็ไม่สามารถทำได้เช่นกันจนกว่าจะถึงเวลาที่กรอบศาสนากำหนด ฉะนั้น นอกจากครอบครัวของอัลรูไวลี่จะต้องทุกข์ระทมกับการรอคอยข่าวความคืบหน้าของอัลรูไวลี่แล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับปัญหามากมายในเรื่องกฎหมายมรดกและครอบครัว
ทั้งหมดนี้เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไทย
อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่คดีอัลรูไวลี่ไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกระทั่งต้นเดือนมกราคม 2010 (ก่อนหมดอายุคดีความเพียง 1 เดือน) กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้สั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา อันประกอบไปด้วย พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภาค 5 และพวกอีก 4 คน ในคดีร่วมกันฆ่านายมูฮัมมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียที่หายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน จนทำให้หลายฝ่ายมองว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดิอาระเบีย อาจเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี บางฝ่ายมองไกลไปถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ไทยจะได้รับจากการจัดส่งแรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว ฯลฯ จนดูเหมือนว่าความคืบหน้าในคดีอัลรูไวลี่จะ เป็นตัวชี้วัดผลประโยชน์ของไทยที่จะได้จากซาอุดิอาระเบียในอนาคต
แต่แล้วความหวังดังกล่าวก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องหาคดีอัลรูไวลี่ และคดียังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในชั้นศาล จนทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจกรณีการแต่งตั้งดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์อ้างว่า ตามมาตรา 95 ของพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตำรวจคนใดถ้ายังมีคดีความติดตัวไม่เป็นที่สิ้นสุด จะต้องถูกออกจากราชการไว้ก่อน
ความเป็นไปดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายขณะนั้น ต้องออกมาเตือนรัฐบาลถึงความสัมพันธ์ที่ไทยมีกับซาอุดิอาระเบียว่าอาจจะเลวร้ายลงจนถึงขั้นต้องตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน จากที่เคยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยมานาน
ฉะนั้น การตัดสินใจกรณีการเลื่อนตำแหน่งของ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ของรัฐบาลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย อย่าลืมว่า ซาอุดิอาระเบียไม่ได้มีสถานะเหมือนกับประเทศเล็กประเทศน้อยอื่นๆ เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศชั้นนำที่มีอิทธิพลเหนือประเทศมุสลิมอีกกว่า 50 ประเทศ
เป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์การการประชุมอิสลาม เป็นพันธมิตรแนบแน่นกับสหรัฐ เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เป็นหนึ่งในประเทศผู้บริจาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ตั้งของเมืองอันประเสริฐของชาวมุสลิมทั่วโลกถึง 2 แห่ง นั้นคือนครมักกะฮ์และนครมะดีนะฮ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชาวมุสลิมทั่วโลก หวังที่จะได้ไปประกอบพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต รวมถึงมุสลิมในประเทศไทยด้วย
ปัจจัยอันนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์
ปลายเดือนมีนาคม 2014 หลังศาลยกฟ้องพลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม และพวกในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ทำให้หลายฝ่ายมองไม่เห็นอนาคตการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย
แต่เมื่อปลายปีเดียวกันนั้น เรากลับเห็นรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบียเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 (อันถือเป็นการมาเยือนไทยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซาอุดิอาระเบีย) พร้อมทั้งได้หารือกับนายกรัฐมนตรีของไทยถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ
ว่ากันว่าก่อนที่จะมีการหารือกันดังกล่าว ได้มีความพยายามจากบางฝ่ายช่วยประสานผลักดันให้เกิดการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบียเองที่เล็งเห็นผลประโยชน์จากการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย หรือนักการทูตฝ่ายไทยเองที่ขอความร่วมมือจากมิตรประเทศที่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมานานอย่างบาห์เรนให้ช่วยเป็น “สื่อกลาง” เชื่อมต่อความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย
ด้วยเหตุนี้ ในวันที่มีการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เราจึงเห็นนายกรัฐมนตรีบาห์เรน เจ้าชายคอลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัล-คอลีฟะฮ์ นั่งสนทนาอยู่ด้วย อันเป็นการหารือกันแบบสามฝ่าย
การประสานผลักดันของคนกลางย่อมเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งอันทำให้เกิดการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่ที่สำคัญกว่านั้น ผมเชื่อว่าการกลับหลังหันของนโยบายต่างประเทศซาอุดิอาระเบียต่อไทยเกิดจากสถานการณ์แวดล้อมซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของซาอุดิอาระเบียเอง
หากยังจำกันได้ช่วงกลางปี 2015 มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสำคัญในซาอุดิอาระเบีย คือการปรับคณะรัฐมนตรี และการจัดลำดับการสืบสันติวงศ์ใหม่ของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในครั้งนั้นคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่รัฐบาลของซาอุดิอาระเบียมักจะมีแต่ผู้อาวุโสระดับสูง
นอกจากจะแต่งตั้งคนรุ่นใหม่อย่าง เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด พระราชโอรสของกษัตริย์ เป็นรองมกุฎราชกุมารแล้ว ยังได้มีการแต่งตั้งคนนอกที่ไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ แต่เป็นคนมีความสามารถอย่างนายอาดิล อัล-จูเบอีร์ เอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียประจำกรุงวอชิงตันของสหรัฐ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนเจ้าชายซาอุด อัล-ฟัยซ็อล ที่ดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 40 ปี
การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารบ้านเมืองจากคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ย่อมทำให้วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของประเทศเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับกรณีต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่พวกเขาตระหนักถึงผลประโยชน์ที่ซาอุดิอาระเบียจะได้รับหากฟื้นความสัมพันธ์กับไทยมากกว่า
ปัญหาทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียในช่วงที่ผ่านมาอันเกิดจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศขาดดุลงบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 98,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องคิดโครงการวิสัยทัศน์ซาอุดีฯ 2030 (Saudi Vision 2030) ขึ้นมา เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการขายน้ำมันอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็จะเปิดช่วงทางการหารายได้ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายมากขึ้น
นโยบายนี้ย่อมต้องบีบให้ซาอุดิอาระเบียเปิดประเทศมากขึ้น และแสวงหาโอกาสในการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ แต่ครั้นจะหันไปร่วมมือกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางด้วยกันก็คงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะแต่ละประเทศก็ล้วนมีปัญหาของตนเอง หลายประเทศต้องเผชิญภัยสงคราม บางประเทศเกิดภาวะรัฐล้มเหลว และมีอีกหลายประเทศที่เป็นประเทศยากจน
ขณะที่มองไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการก่อการร้ายที่ระยะหลังสหรัฐฯเองที่ถือเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นที่สุดของซาอุดิอาระเบีย กลับออกกฎหมายเล่นงานซาอุดิอาระเบียในกรณีการก่อการร้าย 9/11
ในสภาพอย่างนี้ซาอุดิอาระเบียไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากจะต้องสร้างพันธมิตรใหม่ และผูกมิตรกับประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ไม่ใช่หวังพึ่งสหรัฐฯประเทศเดียวเหมือนในอดีต ประเทศไทยก็อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ซาอุดิอาระเบียมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพครับ
ทำไมควรเร่งฟื้นคืนสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย
วิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบียมีรายละเอียดเนื้อหาอยู่มาก แต่หากจะสรุปตามที่มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน ทรงให้สัมภาษณ์ไว้แก่สำนักข่าวอัล-อาราบียะฮ์เมื่อปลายเดือนเมษายน 2017 ก็คงได้ใจความหลักๆ ว่า
วิสัยทัศน์นี้เป็นการวางแผนอนาคต 15 ปีของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย เป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยไม่พึ่งพาน้ำมันให้ได้ภายในปี 2020 จัดตั้งกองทุนมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แปรรูปบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ARAMCO โดยเอาหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 5 ออกมาขาย พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธด้วยตนเอง เพิ่มสัดส่วนแรงงานหญิง ลดอัตราการว่างงาน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่สำคัญอื่นๆ ของประเทศนอกจากน้ำมัน เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ประเทศนี้ยังมีศักยภาพอยู่มาก
นอกจากนั้นยังจะเพิ่มความสามารถของราชอาณาจักรในการรองรับมุสลิมจากทั่วโลกที่จะเข้ามาแสวงบุญในพิธีฮัจญ์และอุมเราะฮ์ จากปีละประมาณ 8 ล้านคน ในปัจจุบัน เป็น 15 ล้านคน ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 30 ล้านคน ในปี 2030 อีกทั้งเจ้าชายซัลมานทรงกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซาอุดีอาระเบียจะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่จะมาเยือน แต่เป็นการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กรอบค่านิยมและความเชื่อความศรัทธาของราชอาณาจักร
คาดกันว่าการจะบรรลุความสำเร็จตามที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้วางไว้ในวิสัยทัศน์ 2030 ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันจะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ สิ่งที่ตามมาคือความต้องการแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ และโอกาสทางธุรกิจที่จะเปิดให้สำหรับนักลงทุนทั่วโลก ที่จะหลั่งไหลเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการผลักดันให้วิสัยทัศน์ 2030 กลายเป็นจริงขึ้นมา
สำหรับประเทศไทย เราเคยส่งแรงงานเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียมากที่สุดเมื่อกว่า 20 ปีก่อน จำนวนประมาณกว่า 2 แสนคน สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ก่อนที่แรงงานของเราจะลดจำนวนลงเหลือแค่หลักพันจากความสัมพันธ์ร้าวฉานอันเกี่ยวเนื่องกับคดี “เพชรซาอุฯ” การอุ้มฆ่านักการทูต-นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงปัญหาแรงงานล้นตลาดซาอุดีอาระเบียในยุคนั้น
แม้ความสัมพันธ์ทางการทูตขณะนี้ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียจะยังไม่คืบหน้า แต่จากวิสัยทัศน์ 2030 ของซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นโอกาสที่กระทรวงแรงงานต้องหาลู่ทางขยายตลาดแรงงานไทย เพราะซาอุดิอาระเบียกำลังมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นใหม่ อีกทั้งบริษัทลงทุนใหญ่ๆ ในซาอุดิอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐ ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น ต่างก็เคยชื่นชอบแรงงานไทยมาก่อน
ขณะเดียวกันนโยบายเปิดประเทศสำหรับการท่องเที่ยวก็อาจเป็นช่องทางให้ไทยได้ฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ผ่านการพัฒนาและความร่วมมือกันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านนี้อยู่พอสมควร
ในอีกด้านหนึ่งการที่ไทยจะกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศนั้น เราต้องสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ หากดูสมการของความสัมพันธ์ในตะวันออกกลางชณะนี้จะเห็นว่าประเทศ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และตุรกีเป็นตัวเล่นหลักในสมการนี้ แต่ประเทศไทยยังมีความสัมพัน์ที่ดีไม่ครบกับทุกประเทศ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียยังไม่ปรากฏเต็มรูปแบบ
ด้วยเหตุนี้ นโยบายหลักที่ประเทศไทยต้องสร้างขึ้นในตะวันออกกลางคือสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยต้องเป็นนโยบายที่การสานความสัมพันธ์กับประเทศหนึ่งแล้วไม่ให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่ง และวิธีที่ดีที่สุดคือฟื้นคืนสัมพันธ์ขั้นปรกติกับซาอุดิอาระเบีย (เหมือนที่เรามีกับอิหร่านและตุรกี) อันจะทำให้ไทยสามารถสร้างความสมดุลของสมการที่เป็นดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้ได้
เอกสารอ้างอิง
- “ไทย-ซาอุฯ เล็งฟื้นสัมพันธ์ในรอบ 30 ปี”. กรุงเทพธุรกิจ. 16 มกราคม 2563. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/862383
- ศราวุฒิ อารีย์. “ย้อนรอยคดีอัลรูไวลี่: ตัวชี้วัดสัมพันธภาพไทย-ซาอุดีฯ”. มติชนรายวัน. 21 กันยายน 2553. หน้า 6.
- ศราวุฒิ อารีย์. “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 กับโอกาสของไทย”. คม ชัด ลึก. 13 พฤษภาคม 2559. สืบค้นออนไลน์จาก https://www.komchadluek.net/news/politic/227548
- อัคนี คคนัมพร. “สัมพันธ์ไทย – ซาอุดิฯ”. โลกวันนี้. 27 กันยายน 2553.
- Saudi Vision 2030. สืบค้นออนไลน์จาก file:///D:/Users/7A41001/Downloads/Saudi_Vision2030_EN.pdf