เสวนาวิชาการเรื่อง
“ระเบิดที่ย่างกุ้งกับสงครามที่ชายแดน: ชาติพันธุ์ ศาสนา และการก่อการร้ายในยุครัฐบาลพลเรือน”
21 ธันวาคม 2559
เวลา 9.00-12.00 น.
ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาฯ
พบกับ
ดร.ลลิตา หาญวงษ์
ดร.ฐิติวุฒิ บุญวงศ์วิวัชร
ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
งานเสวนาครั้งนี้เป็นความพยายามหนึ่งในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า โดยเฉพาะความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ซึ่งปะทุขึ้นในช่วงราว 3 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2016) ทั้งกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ การปะทะกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือ รวมถึงการวางระเบิดในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเกิดในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันและอาจมีความเกี่ยวพันกันในบางมิติ
กรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่นั้นเริ่มจากการโจมตีจุดตรวจการชายแดนในเมือง Maungdaw เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2016 เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 9 นาย และคนร้ายเสียชีวิตอีก 8 คน รายงานจากหน่วยงานของรัฐแจ้งอีกว่ามีการปล้นอาวุธจากจุดตรวจไปจำนวนหนึ่ง นำไปสู่ปฏิบัติการควานหาเครือข่ายผู้กระทำผิดและการจับกุมผู้ต้องสงสัยซึ่งล้วนแต่มุ่งเป้าไปที่ มุสลิมโรฮิงญา
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยังเกิดเหตุการณ์วางระเบิดในย่างกุ้งหลายครั้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2016 แม้การระเบิดแต่ละครั้งจะไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต หากแต่ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวพม่าและชาวต่างชาติในย่างกุ้งอย่างมาก ล่าสุดสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นชาวมุสลิมและอาจมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับการก่อความรุนแรงในรัฐยะไข่
ในอีกด้านหนึ่งทางตอนเหนือของพม่า มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังผสมกลุ่มชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม (คะฉิ่น อาระกัน ตะอั้ง และโกกั้ง) กับกองทัพและตำรวจของพม่า บนเส้นทางเศรษฐกิจหลักเชื่อมโยงกับประเทศจีน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประชาชนบางส่วนต้องอพยพไปลี้ภัยในฝั่งประเทศจีน กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก จนทางการจีนต้องออกมาเรียกร้องให้หาทางแก้ปัญหา รวมถึงเสนอตัวเข้าคลี่คลายปัญหาดังกล่าว
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งคำถามของประชาคมโลกว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่สถานการณ์ในพม่ามีศึกหนัก ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวผู้ที่ถูกจับตามองมากที่สุดย่อมไม่พ้นรัฐบาลพลเรือนและกองทัพ ที่ต้องทำงานร่วมกันในการจัดการปัญหาดังกล่าว นับเป็นความท้าทายต่อการบริหารงานภายใต้รัฐบาลพลเรือนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศ
ในการนี้ สถาบันเอเชียศึกษา จึงจัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ระเบิดที่ย่างกุ้งกับสงครามที่ชายแดน: ชาติพันธุ์ ศาสนา และการก่อการร้าย ในยุครัฐบาลพลเรือน” เพื่อการทำความเข้าใจและวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวในพม่า โดยได้รับเกียรติในการบรรยายจาก นักวิชาการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาดังกล่าวร่วมกันวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพม่าในมิติต่างๆ ได้แก่
ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ในมิติทางประวัติศาสตร์ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “มุสลิม โรฮิงญา กับความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ในพม่า”
ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อวิเคราะห์ในมิติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การก่อการร้าย มิติใหม่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า”
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิจัยประจำ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ในมิติการขับเคลื่อนของมุสลิมในระดับนานาชาติ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “โรฮิงญากับโลกมุสลิมและปฏิกิริยาจากรัฐบาลพม่า”
นายณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ นักวิจัยประจำ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์ในมิติความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร ภายใต้หัวข้อเรื่อง “การจัดระเบียบชายแดนกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่า”
คณะผู้จัดงานได้ประมวลสรุปข้อมูล มุมมอง และนัยยะสำคัญ ของปรากฏการณ์ความขัดแย้งในพม่าดังกล่าว ตลอดจนพิจารณาถึงนัยสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า รวมถึงไทยและอาเซียนอันเกี่ยวเนื่องกับปัญหาความขัดแย้งในพม่า ทั้งนี้เพื่อตอบคำถามของการสัมมนาที่ได้ตั้งไว้ในตอนต้น โดยสังเคราะห์เป็น 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ความขัดแย้งในฐานะมรดกอาณานิคม
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่รวมถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆในพม่านั้น เป็นผลสำคัญหนึ่งจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในช่วงอาณานิคม โดยประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การก่อเชื้อแห่งความขัดแย้งคือการจัดการการปกครองของอังกฤษที่ปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยปกครองตนเอง ในขณะเดียวกันกลับแยกปกครองชาวพม่าแท้โดยตรง นำไปสู่ประเด็นความขัดแย้งสำคัญเมื่อประเทศได้รับเอกราช คือชนกลุ่มน้อยต่างๆก็ต้องการที่จะปกครองตนเองเป็นอิสระจากพม่า ในขณะที่พม่าก็ต้องการรวมทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในประเทศเดียวกัน และนำไปสู่การสู้รบระหว่างกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ ความต้องการของพม่าในการรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวยังนำไปสู่การพัฒนาชุดคุณค่าสำคัญที่กองทัพยึดถือคือเรื่องของการรักษา “เอกภาพ” ของประเทศ และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการใช้ความรุนแรงของกองทัพต่อกลุ่มชาติพันธุ์จวบจนปัจจุบัน
การให้ความสำคัญกับเอกภาพดังกล่าวนำไปสู่ปฏิบัติการหลายประการของกองทัพ ในกรณีของโรฮิงญาคือความพยายามในการผลักให้กลายเป็นคนอื่นโดยไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็น 1 ใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศพม่า และใช้คำเรียกว่า “เบงกาลี” หรือก็คือการหมายถึงว่าเป็นคนที่มาจากแคว้นเบงกอล นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆซึ่งเกิดในสมัยนายพลเนวินปกครองประเทศ อาทิ มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวของมุสลิมในยะไข่ที่ประกาศใช้ในปี 1964 ซึ่งเป็นมรดกวิธีคิดแบบอังกฤษ ที่มีมาตรการการจำกัดบริเวณให้กับชาวพม่าบางกลุ่มที่อังกฤษไม่ชอบในสมัยอาณานิคม แม้กองทัพพม่าจะนำวิธีดังกล่าวมาใหช้กับกรณีโรฮิงญา แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ยังมีการลักลอบออกมาทำงานนอกรัฐยะไข่ ต่อมามีการออก citizenship law ในปี 1982 เป็นการกีดกันโรฮิงญาออกไปจากสังคมพม่า ทำให้โรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐและเข้าไม่ถึงสิทธิ์และสวัสดิการต่างๆ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เป็นที่รับรู้
จนกระทั่งปี 2012 เกิดการจลาจลในรัฐยะไข่ มูลเหตุจากการที่สตรีชาวพุทธยะไข่ถูกฆ่าข่มขืน และลุกลามกลายเป็นการจลาจลระหว่างเชื้อชาติ ระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญากับชาวพุทธยะไข่ และกลายเป็นจุดสนใจไปทั่วโลก อย่างไรก็ดี ดร.ลลิตา ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหาโรฮิงญาและชาวมุสลิมนั้นเริ่มรุนแรงขึ้นหลังปี 2010 เมื่อชาวพม่าสามารถรับข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้ภาพลักษณ์ของมุสลิมทั้งที่เป็นโรฮิงญาและไม่เป็นโรฮิงญานั้นตกต่ำลงในสายตาชาวพม่า นอกจากนี้ยังมีการส่งผ่านความคิดเรื่องปัญหาโรฮิงญาไปสู่ชาวพม่ารุ่นใหม่ด้วย เห็นได้จากการประท้วงขับไล่โรฮิงญาที่มีเด็กวัยรุ่นเข้าร่วมด้วย ดังนั้นปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นี้ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดในความคิดของคนรุ่นเก่าอย่างเดียวเท่านั้น พม่าจึงยังต้องเจอปัญหาโรฮิงญาและปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา ชาติพันธุ์ไปอีกนานหลายสิบปี
2. ความขัดแย้งในฐานะส่วนหนึ่งของวงจรสันติภาพในพม่า
การทำความเข้าใจความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นั้นต้องอาศัยการมองเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีหลายเหตุปัจจัย ไม่ใช่เพียงเรื่องอัตลักษณ์หรือความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ที่มักจะมาจากมุมมองของนักมานุษยวิทยาเท่านั้น หากจริงๆ แล้วยังมีประเด็นเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง จิตวิทยา ผลประโยชน์สาธารณะ รัฐเครือญาติ ความมั่นคง ฯลฯ ดังนั้นการพิจารณาเชิงโครงสร้างโดยไม่เอาตนเองเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาที่ถูกต้อง โดยปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์โดยทั่วไปนั้นมีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับการก่อการร้ายและสงครามกลางเมือง การทำความเข้าใจการก่อการร้ายนั้นเป็นไปเพื่อดูเทคนิคการโจมตี เนื่องจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นั้นต้องมีการสู้กับรัฐ มีนัยยะของการพยายามเข้าคุมพื้นที่ ต้องใช้เทคนิคในการโจมตี นอกจากนี้ยังต้องการความสนใจจากสาธารณะ จึงอาจทำให้มีการวางระเบิดในที่สาธารณะ
ดร. ฐิติวุฒิ ได้เสนอในเชิงทฤษฎีการก่อการร้าย ทั้งในระดับท้องถิ่น รัฐ และภูมิภาค โดยในระดับท้องถิ่นนั้น พม่ามีความพยายามในการเจรจากับกองกำลังกลุ่มต่างๆเพื่อนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement: NCA) แต่แท้จริงแล้วเป็นการเลือกตกลงเป็นรายๆ ไป ไม่ได้เป็นการหยุดยิงทั้งประเทศแท้จริง เพราะวิธีการเจรจาหยุดยิงของพม่านั้นมักจะเป็นการเจรจาหยุดยิงกับกลุ่มหนึ่งเพื่อไปรบกับอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นการตกลงหยุดยิงจึงไม่เป็นผลอย่างแท้จริง ทำให้สันติภาพในแต่ละพื้นที่นั้นเป็นสันติภาพที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยสถานะทางกฎหมายหลังลงนามในสัญญาหยุดยิงสำหรับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์นั้นได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจรจา กล่าวคือกลุ่มที่ลงนามแล้วจะกลายเป็นกลุ่มที่มีสถานะตามกฎหมาย ซึ่งทำให้สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างอิสระมากขึ้น ในขณะเดียวกันกลุ่มที่ไม่ยอมลงนามจะกลายเป็นกลุ่มนอกกฎหมายตามที่ระบุใน Unlawful Association Act และถูกจัดกลุ่มให้เป็นผู้ก่อการร้าย
นอกจากนี้ หากพิจารณาในระดับรัฐ อาจมองได้ว่าความรุนแรงและความขัดแย้งดังกล่าวเป็นการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) มินอองลาย ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพนั้นมีความเป็นชาตินิยมใหม่อีกแบบหนึ่ง เห็นได้จากการที่กล่าวสุนทรพจน์เพื่อต้อนรับทหารใหม่ในช่วงที่ผ่านมาว่า ประเทศต้องเดินตามแนวรัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งได้กำหนดบทบาทของกองทัพอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการจัดการปัญหาด้านความมั่นคง เรื่องที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องของแนวทางการจัดการเรื่องกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้รัฐกลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรงตามรัฐธรรมนูญในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้
การปะทะกัน และความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์ดังกล่าว หากพิจารณาในระดับภูมิภาคหรือในระดับนานาชาติแล้ว สามารถมองได้ว่าพื้นที่ในรัฐยะไข่ได้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจถูกแทรกแซงหรือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดขบวนการก่อการร้าย เนื่องจากรัฐที่มีความขัดแย้งสูงนั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเป็น Failed state โดยเฉพาะมิติความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์นั้น มักจะกลายเป็นเหตุของการก่อการร้ายในระดับภูมิภาค อีกทั้งกระบวนการประชาธิปไตยที่ยังไม่แล้วเสร็จในพม่า ยังต้องมีการจัดความสัมพันธ์อีกมากในพม่า โดยเฉพาะการจัดความสัมพันธ์ในปัจจุบันระหว่างอองซานซูจี ทหาร และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อทิศทางของความขัดแย้งในอนาคต ปัจจุบันอองซานซูจียังไม่สามารถคุมกองทัพได้ และยังขาดความละเอียดในการมองมิติความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ด้วยเหตุต่างๆ เหล่านี้จะทำให้พม่ากลายเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการก่อตัวของการก่อการร้ายในภูมิภาคในอนาคต
3. ความขัดแย้งกับการเปิดพื้นที่สำหรับ Islamic Movement
ปัญหาเรื่องชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่านั้น ตามมุมมองของชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในส่วนอื่นๆของโลกถือว่าเป็นปัญหาที่รุนแรง โดยจัดให้ระดับความรุนแรงเหนือกว่าความรุนแรงที่เกิดกับชาวปาเลสไตน์ ประชาคมมุสลิมให้ความสนใจกับโรฮิงญาเนื่องจากมองว่าชาวมุสลิมโรฮิงญากำลังถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังนั้นชาวมุสลิมจากที่ต่างๆ จึงมองว่าต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาเหล่านี้
ที่ผ่านมาชาติในโลกมุสลิมมีความเป็นห่วงปัญหาโรฮิงญา หากแต่การเป็น “รัฐชาติ” นั้น อาจไม่เอื้อต่อการเข้าไปตักเตือน แทรกแทรง หรือส่งเสียงอย่างแข็งกร้าวต่อพม่าได้สะดวกนัก จึงต้องปล่อยเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนและกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ของมุสลิม ล่าสุดมีการประท้วงหน้าสถานทูตพม่าในประเทศต่างๆ ในวันเดียวกัน เวลาเดียวกัน และจดหมายแถลงการณ์ก็เป็นฉบับเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวภาคประชาชนนั้นมีการติดต่อกัน ซึ่งถ้าอธิบายแบบโลกมุสลิมก็จะอธิบายได้ว่าระยะหลังมักจะเกิดสงครามในพื้นที่ของโลกมุสลิม ซึ่งนำไปสู่วิกฤตด้านมนุษยธรรมเพราะคนได้รับความทุกข์ยากจากสงคราม ทำให้ชาวมุสลิมตื่นตัวด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ซึ่งหลายครั้งก็ไม่เกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายใหญ่ๆ เช่น IS แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐซึ่งออกหน้ามากไม่ได้
กรณีการเคลื่อนไหวของชาติมุสลิมนอกโลกอาหรับนั้น มีความเด่นชัดเมื่อตุรกีเริ่มส่งเสียงต่อพม่าและประเทศที่เกี่ยวข้องกับกรณีชาวโรฮิงญา ดร.ศราวุฒิ ตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากนั้นมาเลเซียและอินโดนีเซียจึงเริ่มมีทีท่าที่ชัดเจนและให้ความสำคัญต่อกรณีโรฮิงญามากขึ้น นอกจากนี้ประเทศแกมเบียยังประกาศด้วยว่าพร้อมรับชาวโรฮิงญาทั้งหมดไปอยู่ในประเทศ แต่ขอให้ OIC ช่วยดำเนินการ
ดร.ศราวุฒิ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อชาวโรฮิงญาในพม่านั้นอาจเป็นการเปิดพื้นที่ญิฮาดให้กับกลุ่มที่อาจใช้ความรุนแรงเข้ามาแทรกแซง กลุ่มตอลีบันออกประกาศมา 3-4 ปีแล้วว่าต้องการเข้ามาช่วยปลดปล่อยชาวโรฮิงญา ซึ่งกลุ่มนี้มีฐานปฏิบัติการณ์อยู่ในปากีสถาน และบังคลาเทศอันเป็นจุดกำเนิดของโรฮิงญาเองที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน และรัฐยะไข่ก็มีความเชื่อมโยงกับอาณาจักรโมกุลของอินเดีย จึงมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ และเมื่อผนวกกับสถานการณ์ที่โรฮิงญาต้องเผชิญในพม่า อาจทำให้พม่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นเป้าหมายการปฏิบัติการของตอลีบัน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอิสบูอันตะหรีฟ ซึ่งพยายามจัดตั้งรัฐในระบอบคอลิฟะห์ โดยพยายามบอกว่ารัฐประชาธิปไตยนั้นล้มเหลว โดยเฉพาะกรณีพม่าเมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้ว และมีการออกประกาศว่ากรณีโรฮิงญาในพม่านั้นสามารถต่อสู้โดยใช้อาวุธได้ ทั้งๆที่กลุ่มนี้มักจะไม่ใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเหล่านี้ยังค่อนข้างยุ่งอยู่กับกิจการภายในของตน นอกจากนี้กลุ่มอิสลามต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ออกมากระตุ้นเตือนให้ต่อสู้ในกรณีโรฮิงญาในพม่า
ดร.ศราวุฒิ ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่าในขณะนี้เงื่อนไขต่างๆ ของชาวโรฮิงญานรัฐยะไข่เข้าข่ายที่จะทำให้กลุ่มมุสลิมติดอาวุธหลายๆ กลุ่มเข้ามาทำญิฮาด ซึ่งถึงเวลานั้นอาเซียนอาจจะมีปัญหาและอาจนำมาสู่การแตกแยกของประชาคมอาเซียนได้หากไม่มีการแก้ปัญหาโรฮิงญาอย่างจริงจัง
4. ความขัดแย้งอันเกิดจากการจัดระเบียบชายแดนใหม่
การปะทะกันทางตอนเหนือของพม่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนนโยบายชายแดนของกองทัพ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 เป็นชนวนเหตุสำคัญของการปะทุขึ้นของความขัดแย้งนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะราวปี1995-2009 แทบจะไม่มีการปะทะเกิดขึ้นเลย โดยเหตุการณ์การปะทะครั้งนี้เริ่มจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของพม่า ที่เรียกว่า “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” (Northern Alliance) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของทหารและตำรวจของพม่าในเมืองมูเซ (Muse) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2016 ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่าตอนเหนือ สร้างความเสียหายในวงกว้างมากกว่าการปะทะที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลเฉพาะผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และคลื่นผู้อพยพเท่านั้น หากแต่ยังสร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของพม่าโดยรวม เนื่องจากมูเซซึ่งเป็นเป้าสำคัญของการโจมตีนั้นถือเป็นเมืองชายแดนที่มีความสำคัญที่สุดของพม่า กล่าวเฉพาะการค้าชายแดน มูลค่าการค้าผ่านด่านมูเซมีมูลค่าคิดเป็นราวร้อยละ 65 ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมดของพม่า สินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญทางช่องทางนี้ทั้งอาหารทะเล ผักผลไม้ พืชไร่ประเภทต่างๆ และข้าว ต้องเสียหายจำนวนมาก
นายณัฐพล มองว่าสาเหตุสำคัญของการปะทะนับแต่ปี 2009 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากนโยบายของกองทัพที่ต้องการเข้ามาควบคุมและจัดการพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ส่งผลกดดันกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ ที่สำคัญได้แก่การบังคับให้กองกำลังต่างๆยอมผนวกรวมเข้าสู่กองทัพพม่าในปี 2009 โดยมีสถานะที่เรียกว่ากองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force: BGF) กลุ่มต่างๆที่ต่อต้านนโยบายดังกล่าวจึงต้องเผชิญกับการปราบปรามของกองทัพนับแต่นั้นมา
นอกจากนี้ กองทัพยังพยายามเข้าจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าในพื้นที่อย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะหยก ป่าไม้ และพื้นที่เพื่อการสัมปทานการเกษตร ซึ่งแต่เดิมกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆทางตอนเหนือยังมีบทบาทร่วมสำคัญในการจัดการ ทั้งการได้รับประโยชน์จากการค้าหยกสู่ประเทศจีน การให้สัมปทานพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงสัมปทานพื้นที่เกษตรด้วย ความพยายามในการควบคุมทรัพยากรเหล่านี้ของกองทัพแสดงออกให้เห็นในหลายวาระ อาทิ การห้ามส่งออกหยกตามแนวชายแดนแต่จัดให้มีการประมูลที่เมืองหลวงแทน หรือการเปลี่ยนนโยบายป่าไม้ ที่จะกัดให้มีการตัดไม้เฉพาะเพื่อการป้อนสู่อุตสาหกรรมภายในประเทศเท่านั้น และที่สำคัญคือการประกาศห้ามส่งออกไม้ซุงในปี 2014 ซึ่งเท่ากับปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีค่าเหล่านี้ลง
นอกจากนี้ นายณัฐพล ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปฏิกิริยาของภาคประชาชนที่มีต่อการปะทะกันในครั้งนี้ว่าจะเป็นตัวแสดงใหม่ในโครงสร้างความสัมพันธ์ของสันติภาพในพื้นที่ตอนเหนือของพม่าในอนาคต ในการปะทะครั้งนี้มีการออกมาเดินขบวนประท้วงของภาคประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ โดยข้อเรียกร้องหลักได้แก่การให้ทั้งสองฝ่ายหยุดสู้รบ และสร้างความสงบให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว อาจสะท้อนถึงฐานมวลชนของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังสั่นคลอน อีกทั้งยังสะท้อนถึงบทบาทภาคประชาสังคมที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในการเข้ามีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะเรื่องต่างๆ รวมถึงกระบวนการสันติภาพในพม่าด้วย