สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

ความปกติใหม่ ใน ทะเลจีนใต้

โดย ศูนย์แม่โขงศึกษา  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ขณะที่โลกเผชิญกับโรคระบาด ปักกิ่งกลับขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างก้าวร้าว จนถูกกล่าวหาว่า  “ฉวยโอกาส” จากวิกฤต เพื่อเปลี่ยนกฎของเกมตามต้องการหรือแท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่พญามังกรได้วางไว้แม้ โควิด-๑๙ จะไม่เกิดขึ้นก็ตาม และ “ความปกติใหม่” ในทะเลจีนใต้ หลังการระบาดสิ้นสุดจะเป็นเช่นไร ?

พฤติการณ์ของจีนในทะเลจีนใต้ขณะที่เพื่อนบ้านปั่นป่วนกับการระบาดของโควิด-๑๙ จากการที่เรือยามฝั่งของจีนจมเรือประมงเวียดนาม หรือเรือสำรวจไห่หยาง ตี้จื้อ ๘ ขนาบข้างด้วยเรือยามฝั่ง เข้าคุกคามการทำงานเรือสำรวจเวสต์             คาเพลล่าของบริษัทน้ำมันเปโตรนาสในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของมาเลเซีย แม้กัวลาลัมเปอร์จะไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ แต่ปักกิ่งอ้างว่าไม่ได้รุกล้ำน่านน้ำพิพาท เพราะไม่มีน่านน้ำพิพาท เนื่องจากจีนยึดถือแผนที่เส้นประ ๙ เส้น (Nine-Dash Line Map)

เวียดนามเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าเป็นคู่พิพาทกับจีนต่อปัญหาในทะเลจีนใต้ เฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งเขตปกครองพิเศษของจีนบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ และหมู่เกาะพาราเซล ด้วยการตั้งเมืองซานซาขึ้นดูแลเกาะซีซา,จงซา, หนานซาและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการตั้งชื่อเกาะ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น แนวปะการัง, ภูเขาใต้ทะเล, สันเขา และสันดอนที่จมอยู่ใต้น้ำในพื้นที่พิพาท เป็นภาษาจีน หรือการสร้างสถานีวิจัยใหม่ ๒ แห่งและสนามบินที่สามารถรองรับเครื่องบินทหารบนเกาะเทียมบริเวณแนวปะการังเฟียรี ครอส รีฟ และซูบี รีฟ

โควิด-๑๙ ยังทำให้โอกาสของเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนลดน้อยลงในการผลักดันวาระเพื่อคัดง้างกับจีนโดยเร่งรัดฉันทามติประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ขณะที่ฟิลิปปินส์แม้จะยังคงแสดงจุดยืนเคียงข้างเวียดนาม และอึดอัดต่อความก้าวร้าวของปักกิ่งจากการที่เรือจีนล็อคเป้าเรดาร์ปืนไปที่เรือลาดตระเวนบีอาร์พี คอนราโด ยัป ในน่านน้ำพิพาท แต่ปัญหาการระบาดที่กำลังเผชิญ ทำให้มนิลา และประธานาธิบดีโรดรีโก ดูแตร์เต ต้องชั่งน้ำหนักความสมดุล ระหว่างผลประโยชน์ของประเทศ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากปักกิ่ง หรือสนับสนุนเวียดนามต่อปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับจีน

อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่กังวลต่อการเข้ามาจับปลาที่ผิดกฎหมายของเรือประมงจีนบริเวณหมู่เกาะนาทูนา ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย โดยมีเรือยามฝั่งคุ้มกัน แม้จีนไม่ได้โต้แย้งอำนาจอธิปไตยของอินโดนีเซีย แต่อ้างว่าเป็นพื้นที่จีนทำการประมงมาแต่โบราณ จาการ์ตาจึงประท้วงปักกิ่ง ซึ่งอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ตามแผนที่เส้นประ ๙ เส้น และทำให้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด สั่งการให้มีการลาดตระเวนทางทะเลเพิ่มขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าจีนจะไม่บุกรุกเข้ามาในน่านน้ำตน

การปฏิบัติการของจีนในทะเลจีนใต้ โดยใช้กองเรือยามฝั่ง  (CCG) ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องจงใจ และเป็นกลยุทธ์ที่ปักกิ่งวางไว้ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่แสดงออกในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดความเสี่ยงเมื่อเทียบกับการใช้เรือรบ เพราะจีนไม่ต้องการถูกมองว่าก่อสงคราม

ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ทำให้วอชิงตันกล่าวหาว่า ปักกิ่งใช้ประโยชน์จากการระบาดใหญ่ในภูมิภาค และเรียกร้องให้หยุดการระรานเพื่อนบ้าน พญาอินทรียังท้าทายพญามังกร โดยอ้าง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ด้วยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ เข้าไปปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งส่งเรือโจมตียกพลขึ้นบกยูเอสเอส อเมริกา เรือพิฆาตยูเอสเอส แบร์รี และเรือลาดตระเวน ยูเอสเอส บังเกอร์ ฮิลล์ ปฏิบัติการฝึกซ้อมการเดินเรือในทะเลจีนใต้ ใกล้พื้นที่พิพาทระหว่างจีนและมาเลเซีย ร่วมกับเรือฟริเกตพารามัตต้าของออสเตรเลีย ซึ่งสร้างความไม่สบายใจแก่มาเลเซีย ที่เกรงว่าจะเพิ่มความตึงเครียด และระดับสถานการณ์ จนเกินขีดที่มาเลเซียจะจัดการได้ แม้จะไม่พอใจการรุกล้ำของจีนก็ตาม

ขณะที่พญามังกรก็ไม่แยแสการยั่วยุของอเมริกา โดยจัดให้มีการฝึกซ้อมในทะเลจีนใต้ของเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง และฝึกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ของกองเรือคุ้มกันการเดินเรือ ชุดที่ ๓๕ ประกอบด้วย เรือพิฆาตไท่หยวน, เรือฟริเกตจิงโจวและเรือส่งกำลังบำรุงเฉาหู หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดน นอกชายฝั่งโซมาเลีย

จริงๆแล้ว จีนอาจไม่ได้ฉวยโอกาส แต่การระบาดช่วยให้จีนได้เปรียบในเวลาที่สถานที่ของการแพร่ระบาดได้ย้ายไปยังประเทศอื่น และอยู่ห่างจากจีนทำให้จีนสามารถใช้ประโยชน์ความเปราะบางของเพื่อนบ้านผ่านการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมความร่วมมือในการต่อสู้กับโรคระบาด ขณะเดียวกันปักกิ่งยังต้องการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ไปยังวอชิงตัน และเพื่อนบ้านว่า โควิด-19 หรือวิกฤตใดๆ ไม่ได้ส่งผลกระทบ ทำให้ความสามารถในการป้องกันตัวของจีนน้อยลงหรือหยุดอิทธิพลของปักกิ่งในทะเลจีนใต้ได้แม้ต้องแลกกับความไม่ไว้วางใจของเพื่อนบ้าน

สถานการณ์การระบาดยังทำให้เป็นไปได้ลำบากสำหรับวอชิงตันในการต่อกรกับปักกิ่งจากความสามารถในการพร้อมรบที่ลดระดับต่ำลงอย่างมีนัยยะหลังสูญเสียขีดความสามารถของกองเรือที่ ๗ บางส่วนไป จนไม่สามารถปฏิบัติการได้จากการที่ลูกเรือ ยูเอสเอส ธีโอดอร์ รูสเวลต์ และยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ติดเชื้อโควิด-๑๙ รวมทั้งการส่งเรือรบเข้าไปในทะเลจีนใต้น้อยลงหลังการระบาด การยกเลิกหรือเลื่อนการฝึกซ้อมร่วมทางทหาร เช่น การฝึกซ้อมรบริมแพค, การฝึก               บาลิกาตันกับฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

การระบาดยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศในอาเซียน จนต้องตัดลดรายจ่ายป้องกันประเทศ เช่น อินโดนีเซีย  จำนวน ๕๘๘ ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เผชิญแรงกดดันจากปัญหางบประมาณ ซึ่งหมายถึงการลาดตระเวนทางทะเลที่น้อยลง จีนซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการระบาดที่กำลังฟื้นตัว และพยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ที่เสียหายจากการส่งความช่วยเหลือที่เรียกว่า “การทูตหน้ากาก” (Mask Diplomacy) ไปยังเพื่อนบ้าน ด้วยการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีรักษา ซึ่งช่วยบรรเทาความกังวลที่มีต่อโครงการ  Belt and Road Initiative (BRI) ว่าเป็น “การทูตกับดักหนี้” (Debt Trap Diplomacy) การให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤตยังทำให้จีนก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ในฐานะ “ผู้มีพระคุณ”

ความปกติใหม่ (New Normal) ซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน หลังการระบาดสิ้นสุด ก็คือ หลายชาติในอาเซียนจำต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีนมากยิ่งขึ้น จนไม่สามารถท้าทายอิทธิพลจีนในทะเลจีนใต้ได้ นอกจากจะบริหารความสัมพันธ์กับปักกิ่ง อย่างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ภายในประเทศกับปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก..


อ้างอิงจาก :

“South China Sea: What’s Behind China-Vietnam Tensions Amid COVID–19?”
Diplomat, April 10, 2020
https://thediplomat.com/2020/04/south-china-sea-whats-behind-china-vietnam-tensions-amid-covid-19/
“U.S. military faces down two challenges in western Pacific: COVID-19 and China”
Japan Times, May 20, 2020
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/05/20/asia-pacific/us-military-western-pacific-coronavirus-china/
“Under Cover of Pandemic, China Steps Up Brinkmanship in South China Sea”
Foreign Policy, May 14, 2020
https://foreignpolicy.com/2020/05/14/south-china-sea-dispute-accelerated-by-coronavirus/
“Why is the US escalating its presence in the South China Sea amid the coronavirus pandemic?”
South China Morning Post, 17 May, 2020
https://www.scmp.com/comment/opinion/article/3084517/why-us-escalating-its-presence-south-china-sea-amid-coronavirus
“A Cold War Is Heating Up in the South China Sea”
Bloomberg, 22 May, 2020
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-05-21/u-s-china-tension-over-trade-covid-19-rises-in-south-china-sea


บทความล่าสุด

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา
ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผ

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ Di Bawah Lindungan Ka’bah หรือ ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เป็นนวนิยายของ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา หรือ ฮามก้า (Hamka) นักคิดนักเขียนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังกะเบา จากเกาะสุมาตรา ที่ชาวอินโดนีเซียเคารพรั

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2020 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เร

ดร.ศราวุฒิ อารีย์
2563
กระแสเอเชีย
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย ชายชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมการแสดง Nyida Parik ที่ลานหญ้าของหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย เข็มนาฬิกาแสดงเวลาตีห้าเศษ แต่แสงอาทิตย์ได้ส่องเหนือหุบเขาบาซาร์ (Basar) จนสว่างไสวแล้ว เช้าวันนี้ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้มาชมการซ้อมเต้น Nyida Parik

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2563
กระแสเอเชีย
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”

แปลและเรียบเรียงโดย กรองจันทน์  จันทรพาหา (ที่มาภาพ : https://ss0.bdstatic.com/70cFuHSh_Q1YnxGkpoWK1HF6hhy/it/u=2739498971,358910417&fm=26&gp=0.jpg ) ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ

ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา
2563
กระแสเอเชีย