สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

ตีท้ายครัวเพื่อนบ้าน

โดย อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

กรุงเทพธุรกิจ หัวข้อข่าว: ตีท้ายครัว: เพื่อนบ้าน ‘อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์’

ปีที่: 29 ฉบับที่: 10008
วันที่: อังคาร 16 กุมภาพันธ์ 2559
Section: จุดประกาย/หน้าแรก
หน้า: 1(กลาง), 2


ใครก็ตามที่คิดว่า คนในประเทศเพื่อนบ้านด้อยกว่าคนไทย คงต้องคิดใหม่แล้วละ

 ถ้าอยากรู้จักเพื่อนบ้านอาเซียน คงไม่ใช่แค่ “เห็น รู้สึก หรือมีคนเล่าว่า” จำเป็นอย่างยิ่งต้องเข้าใจวิธีคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่ได้ถูกโชว์ในตัวเลขผลผลิตมวลรวมของประเทศ แต่เป็นเศรษฐกิจที่สร้างรายได้อย่างเฟื่องฟู

ถ้าอย่างนั้นมารู้จักเพื่อนบ้านอาเซียน ผ่านนักคิด นักวิจัย ที่มีมุมคิดหลากมุมมองจาก ศาสตราจารย์อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยเชี่ยวชาญพิเศษเกี่ยวกับประเทศไทย และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชี่ยวชาญในด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจการลงทุน มีผลงานวิชาการภาษาไทยกว่า 15 เล่ม และภาษาอังกฤษ 6 เล่ม

ก่อนหน้านี้อาจารย์อุกฤษฏ์เคยทำวิจัยเกี่ยวกับ”ประชาธิปไตยในเมืองไทย” แต่เมื่อมาจับงานด้านอาเซียนในลุ่มแม่น้ำโขงช่วงหลายสิบปี เขาเห็นว่า มีประโยชน์มากกว่า ยิ่งวิจัยยิ่งเจอเรื่องสนุกๆ ท้าทายให้วิจัยต่อ เขาพบว่า ถ้าจะกินกุ้งสดๆ รสชาติดี ต้องกุ้งพม่า ไม่ต้องไปไกลถึงพม่า ไปแค่อ.แม่สอด จังหวัดเชียงราย ก็อร่อยแบบไม่แพง หรือคุณรู้ไหม สินค้าไทยที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในประเทศเพื่อนบ้านคืออะไร

ลองมารู้จักเพื่อนบ้านเราอีกมุมสิ… 

ขอเริ่มที่ประเด็นนักดื่มเบียร์ก่อน ว่ากันว่า เบียร์ของเพื่อนบ้านเรา ก็มีทีเด็ดไม่แพ้เบียร์แถบตะวันตก?
ทีมงานเราไปทำงานอุตสาหกรรมผลิตเบียร์ของประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อศึกษาโอกาสและแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ปรากฎว่า เราเจอประเด็นอื่นๆ เพิ่ม ในแง่ธุรกิจอุตสาหกรรมเบียร์ เราพบว่า คนเวียดนามไม่ถือว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เมื่อพวกเขาไม่ได้มองว่าเป็นแอลกอฮอลล์ คนเวียดนามก็ดื่มเบียร์กันสนุกสนาน เป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุด โดยเฉพาะเบียร์ที่มาจากเมืองไทย แล้วพวกเขายังชอบดื่มไวน์และเหล้า

ส่วนเบียร์ที่เข้ากับคนไทยมากที่สุด จากที่ผมคุยกับคนดื่มเบียร์ ก็คือเบียร์ลาว และเบียร์ที่จะเข้ามาขายมากที่สุดในอาเซียนก็คือ เบียร์ญี่ปุ่น และญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดื่มเบียร์มากที่สุดในโลก นอกจากนี้การดื่มเบียร์ยังโยงกับเรื่องวัฒนธรรม คนไทยที่ชอบดื่มเบียร์ จะลองดื่มเบียร์รสชาติแปลกๆ จากประเทศนั้นประเทศนี้ ทีมวิจัยเราลงไปดูแหล่งผลิตเบียร์ในอาเซียนหลายแห่ง


มีคนบอกว่า เปิดอาเซียนต้องเก่งภาษา นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แล้วคนไทยควรรู้อะไรเพิ่มเติม
ต้องมากกว่านั้น คุณรู้ไหม สินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เป็นที่นิยมของภูมิภาคนี้แค่ไหน เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ รสชาติดี ผลไม้ไทยก็อร่อย เพื่อนบ้านชอบมาก ผมขอมองแบบเชื่อมโยง ไม่ได้มองว่าอันไหนดีหรือด้อยกว่ากัน ถ้าผมจำไม่ผิด ร้านอาหารจีนในไซง่อน เป็นคนส่งอาหารทะเลมากรุงเทพฯ ทั้งสดใหม่อร่อยมาก ไม่รู้ว่ามาจากไหน เหมือนเราไปอ.แม่สอด จ.เชียงราย กุ้งที่มาจากพม่า อร่อยมาก กินที่กรุงเทพฯสู้กินที่อำเภอแม่สอดไม่ได้ อาหารเหล่านี้อยู่นอกระบบ


ไม่ควรมองข้ามการค้านอกระบบ แล้วอาจารย์คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร
ธุรกิจนอกระบบในความหมายของผม คือ ระบบการค้า หรือ การโอนเงินไม่ถูกนับเป็นตัวเลข ยกตัวอย่าง รถที่ขนอาหารทะเลจากพม่ามาอ.แม่สอด ผมคิดว่า ไม่น่าจะเสียภาษีเยอะ เพราะอาหารทะเลไม่แพงเลย สด และรสชาติดี ซึ่งเราไม่ได้กินอาหารทะเลแบบนี้ในระบบ ผมคิดว่าธุรกิจการค้าพม่าที่ติดต่อกับไทย น่าจะเป็นทางจังหวัดระนอง เรือจากระนองขนเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง ไปพม่าเยอะมาก ผมเคยเจอคนระนองที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกาแฟยี่ห้อดังรายเดียวในพม่า ถ้าไประนอง คุณจะนั่งเรือไปไหนก็ได้ ผมเรียกว่าโลกาภิวัตน์ การค้าไม่มีพรมแดน ผมไปทวาย มาริด ในพม่าเจอนักธุรกิจใหญ่เป็นเจ้าของเกาะมีธุรกิจต่อเรือไม้ ผลิตขายแทบไม่ทัน แล้วยังทำมีคนทำฟาร์มปูนิ่มส่งต่างประเทศ

นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญคนไทยไปลงทุนถูกจังหวะหรือเปล่า คนที่ทำธุรกิจแปรรูปอาหารสัตว์ เท่าที่ผมเห็น รุ่งมาก พวกเทมปุระแพคที่มาเลเซีย ผลิตในพม่า และเจ้าของคือ คนไทยและพม่า เอาไปขายที่ญี่ปุ่น ปกติแล้วถ้าญี่ปุ่นผลิตเทมปุระเองจะราคาแพงมาก แพงกว่าอาเซียนผลิตหลายสิบหลายร้อยเท่า แม้กระทั่งครีมหน้าเด้ง ครีมทาผิวมากมายผลิตในเมืองไทย ขายดีมากในประเทศเพื่อนบ้าน ผมมองว่า คนไทยมีความสามารถ มีเทคโนโลยีและความรู้ สินค้าไทยที่โดดเด่น คือ สินค้าอุปโภค บริโภค คุณรู้ไหม กลุ่มห้าเสือที่ทำการค้าอยู่หนองคาย ร่ำรวยแค่ไหน นอกจากคนกลุ่มนี้ คนอื่นๆ ก็ไม่กล้าเข้าไปทำการค้าใหญ่ๆ ถ้าคนที่ไม่เคยทำโรงไม้หรือสิ่งทอ ก็ไม่กล้าทำ แต่จะบอกว่า การค้านอกระบบรุ่งมาก


ถ้าอย่างนั้นคนไทยต้องปรับตัวในเรื่องการค้าการลงทุนในอาเซียนอย่างไร
ยอมรับความเป็นจริง ต้องลงทุนในสิ่งที่ถนัด ถ้าเราไปถามเจ้าสัว ธุรกิจพื้นฐานง่ายๆเลย พวกอาหาร ความสวยความงาม และยา คุณไปดูได้ครีมหน้าเด้งผลิตในไทย ขายดีที่เวียดนาม แม้จะบั๊มยี่ห้อใหม่ สินค้าพวกนี้ติดตลาดแล้ว และพวกเขาก็มีกำลังซื้อ


คนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด ?
คนไทยมองตัวเองเป็นใหญ่ และคิดว่าตัวเองสำคัญกว่าคนอื่น มองคนอื่นด้อยกว่า เราต้องทำความเข้าใจเพื่อนบ้านใหม่ อาเซียนเป็นตลาดใหญ่มาก ตอนนี้มีการบูรณาการ ทั้งเรื่องถนน รถไฟ ซึ่งเป็นคีย์อย่างหนึ่งในภูมิภาคนี้ เมื่อก่อนภูมิภาคนี้ขาดงบประมาณ แต่ตอนนี้เงินไม่ใช่ปัญหา มีเงินจากรัฐบาลจีน และอีกหลายประเทศ

ตลาดแรงงานอาเซียนตอนนี้อยู่ที่ไหน
สินค้าที่ต้องใช้แรงงานมากอยู่ที่เวียดนาม ส่วนสินค้าสิ่งทอ แหล่งผลิตอยู่กัมพูชา เพราะแรงงานพวกนี้ต้องมีทักษะระดับหนึ่ง สินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายผลิตที่นี่ รวมทั้งในบังคลาเทศ


ดูเหมือนถนนทุกสายมุ่งสู่เวียดนามและพม่า ?
เวียดนามมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ประเทศของเขาเติบโต เมื่อมีโอกาสพูดคุยกับคนเวียดนาม ตอนนี้พวกเขาไม่ได้มองแค่อาเซียน ตั้งแต่ปี 2537 พวกเขามีแผนปี 2563 แล้ว คนเวียดนามมองข้ามอาเซียนไปแล้ว อาเซียนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเขา ตอนนี้พวกเขาลืมสงครามเวียดนามไปแล้ว ทั้งๆ ที่มีหลุม ถ้ำ ประวัติศาสตร์ วรรณกรรมที่โศกเศร้าอยู่ ในอดีตกาลเวียดนามถูกยึดครองโดยจีนเป็นพันๆ ปี และยังถูกครองโดยฝรั่งเศส และอเมริกา ซึ่งสองประเทศหลังแพ้เวียดนาม

แม้กระทั่งจีนยังกลัวเวียดนามในแง่ความขยัน อดทน มุ่งมั่น และความคิดที่จะสร้างชาติ หลังสงครามเวียดนาม พวกเขาพัฒนาประเทศได้เร็ว เร็วๆ ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงตึกรามบ้านช่อง แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพคน เท่าที่ผมเห็น นักเรียนนักศึกษาของเวียดนามที่ได้ทุนต่างๆ เป็นเบอร์หนึ่งของหลักสูตร ไม่ได้ใช้เส้น คือ เก่งและขยัน และรู้เลยว่า ผู้นำวางแผนเรื่องคนไว้ พวกเขารู้ว่า ต้องมุ่งพัฒนาการศึกษาก่อน


เวียดนามมีศักยภาพมากน้อยเพียงใด
เวียดนามมีวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ได้จากจีนคือ ขงจื้อ ต่างจากไทย ลาว พม่า นับถือพุทธ อีกอย่างเวียดนามผ่านการเป็นอาณานิคมอย่างรุนแรง มีความขยันอดทน มีเป้าหมายพัฒนาประเทศ และโครงสร้างการเมืองแบบพรรคคอมมิวนิสต์ บริหารงานแบบพรรคเดียวสามารถตัดสินใจในเรื่องการพัฒนาบริหารได้เลย นี่คือความต่างของเวียดนามที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่มี

ผมเคยไปเจอคนไทยที่เวียดนามหลายคน ได้คุยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการลงทุน คนไทยบางคนไปทำการค้าและลงทุนที่นั่นกว่ายี่สิบปี มีหลายคนรวยแบบเงียบๆ แค่ขายแชมพูอย่างเดียว แต่ขายทั่วประเทศ เพราะเขาแต่งงานกับคนเวียดนาม ทำให้บริษัทของเขาทำงานได้ต่อเนื่องและมีอุปสรรคน้อยกว่านักธุรกิจคนอื่น


นั่นหมายถึงผู้บริหารประเทศเวียดนาม วางอนาคตไว้ไกลกว่าที่คิด?
คนของเขามีวินัย เขารู้ว่าความรู้มาก่อน มุ่งไปที่การศึกษาก่อน จึงมีทั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ถ้าเราไปเวียดนาม จะเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคยังไม่ดีมาก แม้เวียดนามจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ยังขาดไฟฟ้า เวียดนามเป็นประเทศที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านสงครามเย็น แต่พัฒนาประเทศได้เร็วมาก ผมไปเก็บข้อมูลหลายครั้ง เพื่อนผมคนหนึ่งเคยไปเวียดนามในรอบยี่สิบปีหลายสิบครั้ง เขาเห็นการเปลี่ยนแปลงและเล่าให้ฟังว่า ถนนต่างๆ ในเวียดนาม ถ้าคนไม่รู้จะเข้าใจว่า สร้างไม่เสร็จ คนสร้างถนนไม่ได้ดูแผนที่ ไม่ได้กำหนดเส้นทางอะไร แต่จริงๆ หลายสิบปีที่ผ่านมา ถนนในเวียดนามค่อยๆ สร้างเชื่อมต่อกัน ณ ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานส่วนถนนเชื่อมต่อกันหลายสายแล้ว


ถ้ามองแค่กายภาพ อาจนึกว่าเวียดนามยังพัฒนาไปไม่ไกล ?
ใช่ ง่ายๆ เลยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปีมานานกว่า 8 ปี เวียดนามมีตลาดหุ้นก่อนพม่า ลาว กัมพูชา ตลาดหุ้นเป็นสัญลักษณ์ของระบบทุนนิยมทำงานเต็มที่แล้ว ถ้ามองในแง่นี้ เวียดนามก้าวหน้าไปมาก เพราะผู้นำมีวิสัยทัศน์ ในเวลาเดียวกันคนเวียดนามเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเอง ขณะที่ประเทศไทยพัฒนาถอยหลัง ขวานทองที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่เป็นความจริงแล้ว ปลาในทะเลก็ไม่ค่อยมี แรงงานก็ย้ายเข้าเมืองมาเป็นสาวโรงงาน ป่าไม้ก็ค่อยๆ หมด

และที่ไทยเราเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเพราะการค้าไม้และพลอยจากเขมร รวมถึงพลังงานไฟฟ้าจากการลงทุนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพราะการลงทุนจากเขื่อนพลังน้ำ มีต้นทุนที่ถูกที่สุด ขณะที่พลังงานทางเลือกชีวมวล พลังงานแสงแดด แพงหมด มาเลเซียไม่มีทรัพยากรมากมาย ก็ไปลงทุนในต่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจมาเลเซียใกล้เคียงกับไทย ซึ่งตอนนี้มีปัญหาเชื้อชาติของคนมาเลเซีย


นอกจากเวียดนามที่มีศักยภาพในการพัฒนาประเทศ อาจารย์มองว่า ประเทศใดที่น่าจับตามองอีก
ผมชอบพม่า มีประวัติศาสตร์ มีบุคลิกของคนที่มีสติปัญญา ไม่รู้ว่าการเป็นอาณานิคมสืบต่อกันได้ยังไง ผมคิดว่าคนพม่าเป็นมิตร ต่างจากคนเวียดนาม เท่าที่ผมสัมผัสในวงวิชาการ ถ้าเข้าใจเรื่องใดผิดความหมาย กว่าจะเข้าใจกัน ยากมาก แม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าก็ไม่ได้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์แบบหนังฮอลลีวู้ด พวกเขามีความรู้ไม่ได้ด้อยพัฒนาเลย มีเป้าหมายต้องการอิสรภาพ

เพราะพม่า ตั้งอยู่ในเขตแห้งแล้ง (เนปิดอว์) ชนเผ่าต่างๆ ต้องต่อสู้กัน ทำให้พวกเขาเก่งเรื่องสงคราม ฉลาดเฉลียว ผมอยากให้ย้อนไปดูผู้นำพม่า จริงๆ คนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลแต่ละยุคสมัยมีอยู่สิบกว่าคนเท่านั้น ถามว่าทำไมอยู่ๆ พม่าเปิดประเทศและเลือกตั้ง ถึงเวลาที่เขาต้องทำเพื่อตัวเอง เพราะประเทศไปต่อไม่ได้แล้ว อเมริกา ยุโรปบอยคอท ก็ไม่ได้ผล ทั้งๆ ที่พม่าปิดประเทศยังมีห้าท่าเรือน้ำลึก ถ้าเปิดประเทศความเจริญจะขนาดไหน อย่างที่ผมบอก กุ้งอร่อยๆ และไม้ชั้นดีมาจากพม่า รวมถึงแรงงานคนมากมาย ทำให้หลายประเทศอยากเข้าไปเอาทรัพยากรจากพม่า

ที่ผ่านมาในอดีต บางทีพม่าก็ยอมเสียทรัพยากรบางส่วนให้จีน เพราะพวกเขารู้ว่าจะเสียเพื่ออะไร ถ้าคุณไปมาริด ทวาย คุณจะได้เห็นว่า มีโรงเรียนกวดวิชาเยอะมาก พวกเขาต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แสดงว่า ในอนาคตพม่าต้องก้าวไปไกล จริงๆ แล้วพม่าไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยอะไร แต่ต้องการโอกาสที่จะแสดงออก เพื่อนที่ทำวิจัยเรื่องในพม่า เขาบอกว่าคนพม่าเป็นนักประท้วง พวกเขาต้องการชีวิตที่ดีกว่า พวกพม่าที่มาอยู่มหาชัย เรียนรู้คอมพิวเตอร์ เพื่ออะไร ถ้าเปิดประเทศ เงินทุนไหลเข้ามา พม่าก็จะพัฒนาได้เร็ว

คนทั้งโลกมองไปที่อองซานซูจี แล้วอาจารย์มองว่าผู้นำพม่าคนนี้เป็นอย่างไร
ผมไม่ได้ชื่นชมเธอเท่าไหร่ อองซานเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง ผมไม่รู้ว่า ต่อไปเธอจะเผชิญหรือฟันฝ่าปัญหาที่พม่าสะสมไปได้แค่ไหน จากความรู้ส่วนตัวที่ผมมี ผมไม่คิดว่า อองซาน เป็นคีย์เวิร์ดในการพัฒนาประเทศ อาจารย์ชาวอังกฤษที่ปรึกษาผมเคยบอกว่า เธอมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือ โคตรดื้อ ไม่ยอมทำตาม แม้กระทั่งที่ปรึกษาของเธอ เธอก็ไม่ทำตาม และที่เธอออกมาเคลื่อนไหวขนาดนี้ ก็มีออแกไนเซอร์ มีเรื่องเงินๆ ทองๆด้วย

ที่เห็นคือ เมื่อเธอเป็นนักการเมืองแล้ว เธอเริ่มพูดถึงประชาชนน้อยลง พอมีการประท้วง เธอก็บอกว่า ต้องอยู่ในสภา เธอไม่เคยพูดเรื่องเหมืองทองแดงที่จีนมาลงทุนแล้วสร้างมลพิษ ผมมองว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่ได้หมายความว่ามีรัฐธรรมนูญ ที่อองซานเป็นแบบนี้ ก็คือภาพที่ตะวันตกสร้าง ถ้าดื้อก็จะถูกเขี่ย ผมพูดในฐานะนักวิชาการ


ในแง่เศรษฐกิจ ประเทศไทยอยู่ในระดับไหนของอาเซียน
ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ในอาเซียน ประเทศเราจัดอยู่กลางตอนบน ประเทศที่เจริญมากที่สุดคือสิงคโปร์ แม้จำนวนประชากรน้อย การผลิตและการสร้างมูลค่าสินค้า ผลผลิตมวลรวมของประเทศต่อหัวสูง ถัดมาก็มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ส่วนประเทศที่อยู่อันดับสุดท้ายคือ กัมพูชากับพม่า นี่เป็นภาคใหญ่ในเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ


ประเทศไหนไม่อาจปรามาสได้เลย ?
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นอกจากประชากรน้อยแล้ว ยังเป็นประเทศไม่มีทางออกทะเล แม้จะมีทรัพยากรน้อย แต่จะกลายเป็นคูเวตออฟเอเชีย มีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นแหล่งพลังงานให้ประเทศไทย รายได้ของเขาจากการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆ ที่ประเทศที่ลงทุนอาจเป็นไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแผนสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 25 เขื่อน พลังงานเหล่านี้จะผลิตไปใช้ไป

ส่วนพม่า ประชากรไม่มาก แต่ทรัพยากรเยอะ เหมือนแร่ ถ่านหิน ป่า ที่สำคัญคือก๊าซ น้ำมัน ขายให้ไทยและจีน แต่ในเวลาเดียวกันการเปิดประเทศของพม่า หลังการเลือกตั้งปี 2010 มีหลายประเทศเข้าไปลงทุน เมื่อเปิดประเทศ คนพม่าก็มีความกระตือรือร้น มีโรงเรียนกวดวิชา และมหาวิทยาลัย


5 ปีข้างหน้า แนวโน้มประเทศในอาเซียนจะเป็นยังไง
การพัฒนาในอาเซียนจะไปเร็วมาก ถ้ามีโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง ก็จะมีนักท่องเที่ยว ซึ่งรายได้ตรงนี้มหาศาล ในเรื่องการท่องเที่ยวตอนนี้หลายประเทศไม่ต้องใช้วีซ่า ญี่ปุ่น เกาหลี พม่า เพราะการท่องเที่ยวทำให้โรงแรมเล็กๆ เกิดมากขึ้น ถ้าไม่มีความรุนแรงหรือการก่อการร้าย ไม่ยากที่คนไทยจะมีโรงแรมบูทีคในเวียดนาม ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจแปรรูปอาหารจะไปได้ไกล


บทความล่าสุด

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา
ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผ

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ Di Bawah Lindungan Ka’bah หรือ ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เป็นนวนิยายของ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา หรือ ฮามก้า (Hamka) นักคิดนักเขียนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังกะเบา จากเกาะสุมาตรา ที่ชาวอินโดนีเซียเคารพรั

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2020 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เร

ดร.ศราวุฒิ อารีย์
2563
กระแสเอเชีย
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย ชายชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมการแสดง Nyida Parik ที่ลานหญ้าของหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย เข็มนาฬิกาแสดงเวลาตีห้าเศษ แต่แสงอาทิตย์ได้ส่องเหนือหุบเขาบาซาร์ (Basar) จนสว่างไสวแล้ว เช้าวันนี้ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้มาชมการซ้อมเต้น Nyida Parik

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2563
กระแสเอเชีย
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”

แปลและเรียบเรียงโดย กรองจันทน์  จันทรพาหา (ที่มาภาพ : https://ss0.bdstatic.com/70cFuHSh_Q1YnxGkpoWK1HF6hhy/it/u=2739498971,358910417&fm=26&gp=0.jpg ) ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ

ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา
2563
กระแสเอเชีย