สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น

โดย สุดปรารถนา ดวงแก้ว นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น

แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการผลิต การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกของญี่ปุ่น การเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำมาใช้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว

1. สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น

สาเหตุหนึ่งของปัญหาขาดแคลนแรงงานคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร กล่าวคือประชากรวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานและวัยเด็กของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง จากรายงานของกรมสถิติญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 พบว่า จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมี 35,152,000 คน (27.7%) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะที่ประชากรช่วงอายุ 15-64 ปีมี 75,962,000 คน (60.0%) และประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวน 15,592,000 คน (12.3%) ซึ่งลดจำนวนลงจากปีที่แล้วลงไปอีก[1]

ปัจจุบันญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน 586,400 คน และภายใน 5 ปีข้างหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ตลาดแรงงานจะขาดแรงงานถึง 1,455,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขางานบริบาล อุตสาหกรรมด้านร้านอาหาร และอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งปัจจุบันขาดแคลนแรงงานถึง 330,000 คน และภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 800,000 คน[2] นอกจากนี้ บางสาขางานขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือเนื่องจากแรงงานญี่ปุ่นไม่ต้องการทำงานที่หนัก สกปรก และเสี่ยงอันตราย การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ย่อมส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของญี่ปุ่น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวน 3,809,000 บริษัท หรือ 99.7% ของจำนวนบริษัททั้งหมดของญี่ปุ่น[3]

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายสนับสนุนและกระตุ้นเพื่อให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันผู้หญิงวัยทำงานช่วงอายุ 15-64 ปีมีสัดส่วนการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 70% แล้ว และขยายเวลาการทำงานหลังเกษียณให้กับผู้สูงอายุที่ยังประสงค์ทำงานต่อ แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2025 ประชากรยุคเบบี้บูม (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1947-1949) จะมีอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจำนวนแรงงานจะลดลง ยิ่งกว่านั้นในอนาคตคนสูงอายุเหล่านี้มีแนวโน้มต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขางานการบริบาลและรักษาพยาบาล

2. นโยบายการเปิดรับแรงงานต่างชาติ

การดำเนินนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้จำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยในปี 1978 มี 22,550 คน ปี 1988 มี 81,407 คน[4] และปี 2018 มีจำนวน 1,460,463 คน[5] ดังนั้นภายในระยะเวลา 40 ปีญี่ปุ่นจะมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 65 เท่า ในการอนุมัติกฎหมายและปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมคนเข้าเมืองและแรงงาน เอื้ออำนวยให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถรับแรงงานต่างชาติ และเปิดให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานที่ญี่ปุ่นได้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ ในปี 1981 ญี่ปุ่นตั้งระบบฝึกงานให้แรงงานต่างชาติจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้เรียนรู้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น ในปี 1990 ญี่ปุ่นแก้ไขกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมรับแรงงานต่างชาติที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่น (日系人) ในปี 1993 ญี่ปุ่นนำระบบฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค (技能実習制度) โดยต้องระบุในสัญญาจ้างงานของบริษัทที่รับแรงงานประเภทนี้ ในปี 2010 ญี่ปุ่นอนุมัติการออกวีซ่าฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค (技能実習) ในปี 2015 ญี่ปุ่นอนุมัติการออกวีซ่าแก่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง ในปี 2017 ญี่ปุ่นอนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะระดับสูงสามารถยื่นขอวีซ่าพำนักถาวรหลังจากที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมาแล้ว 1 ปี[6]

นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติดังกล่าวข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเลือกรับเฉพาะแรงงานผู้เชี่ยวชาญระดับสูง เช่น แพทย์ ศาสตราจารย์ ผู้บริหาร นักกฎหมาย วิศวกร ผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่สามารถทำงานได้ เช่น คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น ผู้พำนักถาวร และมีโปรแกรมพิเศษรับแรงงานไร้ฝีมือเฉพาะผู้ที่มีบรรพบุรุษชาวญี่ปุ่น (日系人) เช่น แรงงานจากบราซิล เปรู อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่มีนโยบายเปิดรับแรงงานไร้ฝีมืออย่างเป็นทางการ

บางบริษัทจึงแก้ไขสถานการณ์โดยการใช้แรงงานที่มีสถานภาพพำนักแต่ไม่สามารถทำงานได้ เช่น นักศึกษาต่างชาติและผู้ฝึกงานต่างชาติ จนบางบริษัทเกิดปัญหาบังคับผู้ฝึกงานทำงานเกินเวลา และกดค่าแรง[7] ซึ่งภาพชัดเจนมากขึ้นว่าภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังต้องการแรงงานไร้ฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก

นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติที่ผ่านมานั้นยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหา ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรีบดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ในปลายเดือนกันยายน ปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นมีการผลักดันมติการปฏิรูปการทำงาน (働き方改革実現会議) อย่างจริงจังมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2018 เริ่มประชุมเรื่องปัญหาเปิดรับแรงงานต่างชาติ[8] ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2018 มีการแก้ไขกฎหมายควบคุมตรวจคนเข้า-ออกเมืองเพื่อให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นมากขึ้น ต่อมารัฐสภาลงมติเห็นชอบกับนโยบายเพิ่มแรงงานต่างชาติลงวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 2018 กำหนดนโยบายและรายละเอียดโดยรวมของวีซ่าใหม่ คือ “เทคนิคพิเศษ”(特定技能) โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 ภายใต้กฎหมายควบคุมตรวจคนเข้า-ออกเมือง (改正出入国管理法)[9]

การอนุมัติวีซ่าเทคนิคพิเศษ 1 และ 2(特定技能1・2)เป็นนโยบายที่อนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นสามารถรับแรงงานไร้ฝีมือได้อย่างเป็นทางการ โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นแรงงานจากประเทศจีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย รวม 9 ประเทศ จำนวนที่รับสูงสุดไม่เกิน 345,150 คน[10] ใน 14 สาขางาน ได้แก่ (1) การบริบาล (2) ทำความสะอาดอาคาร (3) อุตสาหกรรมหลอมเหลวโลหะ (4) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรในโรงงาน (5) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ (6) อุตสาหกรรมก่อสร้าง (7) อุตสาหกรรมต่อเรือ (8) อุตสาหกรรมบำรุงรักษารถยนต์ (9) อุตสาหกรรมภาคพื้นสนามบิน (10) อุตสาหกรรมด้านที่พัก (11) อุตสาหกรรมการเกษตร (12) อุตสาหกรรมประมง (13) อุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบ อาหารและเครื่องดื่ม และ (14) อุตสาหกรรมด้านร้านอาหาร ประเภทของวีซ่าเทคนิคพิเศษแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

1) ผู้ที่ถือวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ 1 (特定技能1号)สามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปีแบบต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถนำครอบครัวเข้ามาพำนักด้วยได้ หากต้องการยื่นขอวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ 2 ต้องผ่านการทดสอบด้านทักษะงานและความรู้ทางภาษาญี่ปุ่น

2) ผู้ที่ถือวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ 2 (特定技能2号)เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีทักษะระดับสูง ได้แก่ ผู้ที่เป็นหัวหน้าดูแลหน้างาน สามารถทำงานและพำนักโดยขอขยายเวลาได้ทุก ๆ 1-3 ปี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งรวมถึงอาศัยถาวรได้ สามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้[11]

สรุป

โดยภาพรวมการออกนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น ในปี 2018 นี้ เป็นการเปิดรับแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมืออย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อไป ในขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็นำไปสู่การเพิ่มบทบาทของภาครัฐที่เข้ามาควบคุมและดำเนินการด้านแรงงานมากขึ้น สำหรับแรงงานไทยแล้วนี่เป็นโอกาสการทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องหางานผ่านระบบนายหน้าเอกชน การได้รับความคุ้มครองด้านสภาพแวดล้อมทำงาน สวัสดิการและค่าแรงตามเกณฑ์มาตรฐานเท่าเทียมกับแรงงานญี่ปุ่น รวมถึงการได้รับการสนับสนุนด้านภาษาและการดำรงชีวิตในญี่ปุ่น

สุดปรารถนา ดวงแก้ว
นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา 
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1627

ที่มาของภาพ (prachachat.net)


บทความล่าสุด

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา
ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผ

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ Di Bawah Lindungan Ka’bah หรือ ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เป็นนวนิยายของ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา หรือ ฮามก้า (Hamka) นักคิดนักเขียนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังกะเบา จากเกาะสุมาตรา ที่ชาวอินโดนีเซียเคารพรั

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2020 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เร

ดร.ศราวุฒิ อารีย์
2563
กระแสเอเชีย
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย ชายชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมการแสดง Nyida Parik ที่ลานหญ้าของหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย เข็มนาฬิกาแสดงเวลาตีห้าเศษ แต่แสงอาทิตย์ได้ส่องเหนือหุบเขาบาซาร์ (Basar) จนสว่างไสวแล้ว เช้าวันนี้ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้มาชมการซ้อมเต้น Nyida Parik

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2563
กระแสเอเชีย
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”

แปลและเรียบเรียงโดย กรองจันทน์  จันทรพาหา (ที่มาภาพ : https://ss0.bdstatic.com/70cFuHSh_Q1YnxGkpoWK1HF6hhy/it/u=2739498971,358910417&fm=26&gp=0.jpg ) ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ

ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา
2563
กระแสเอเชีย