สื่อสิ่งพิมพ์

หน้าแรก / สื่อสิ่งพิมพ์

แนวโน้มประเทศไทยในความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ

โดย ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์


ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โลกปัจจุบันสั่นคลอนด้วยเหตุขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างจีนและกลุ่ม Trilateralism อันประกอบไปด้วยอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น1 โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ คู่ขัดแย้งดังกล่าวไม่ต่างจากกลุ่มทุนใหม่ที่พร้อมยืนหยัดในเวทีโลกด้วยเครือข่ายตัวเองกับทุนเก่าที่ยังต้องการรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ประเทศไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมความขัดแย้งหลังบทความบางฉบับพยากรณ์ท่าทีของไทยว่าสุดท้ายอาจจะเลือกไปเข้ากับฝ่ายจีนอันเห็นได้จากข้อตกลงยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีนในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 25622 ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดระหว่างไทยกับมหาอำนาจเก่า ความเป็นไปได้ของการเลือกข้างขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการแสวงหาพลังสนับสนุนจากรัฐบาลวอชิงตัน3 เมื่ออีกฝ่ายปฏิเสธ ไมตรีจากอีกฝ่ายย่อมได้รับการตอบรับในที่สุด แต่คำถามคือทำไมประเทศไทยต้องถูกโยงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองฝ่ายในเมื่อไทยไม่ต่างจากผู้อยู่นอกวง และหากไม่นับความเห็นของนักวิชาการ จุดยืนของไทยจริงๆ ณ เวลาปัจจุบันเป็นอย่างไร สามารถคาดเดาได้จากตัวบ่งชี้อะไรบ้าง

ที่มา The Economist. (2019). America v China: Why the Trade War Won’t End Soon.

เริ่มจากคำถามประการแรกประเทศไทยมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์เพราะเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน นี่สร้างแรงจูงใจให้มหาอำนาจหลายฝ่าย เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่นหันมาพัฒนาความเชื่อมโยงกับไทยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง4 ที่ตั้งของไทยยังจัดเป็นจุดยุทธศาสตร์ในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เพราะการได้ไทยเป็นพันธมิตรจะช่วยให้สหรัฐฯ เดินหน้าแผนการปิดล้อมจีนไปอีกขั้น ในทางกลับกันจีนจะสามารถประกันความมั่นคงด้านใต้ของตัวเองถ้าไทยตัดสินใจเป็นหุ้นส่วนทั้งในทางการเมืองและทหารกับรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะอย่างไรทำเลของไทยเชื่อมกับทางออกทะเลสองฟากมหาสมุทรซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลก จึงปรากฏข้อเสนอจากฝ่ายจีนให้ไทยขุดคลองเชื่อมสองฝั่งทะเลอันจะย่นระยะเวลาเดินทางข้ามสมุทร5 ทั้งยังสร้างความได้เปรียบในด้านการสู้รบทางทะเล (หากเกิดขึ้นจริง) ให้กับฝ่ายที่คุมเส้นทางเดินเรือ

          กระนั้นที่ตั้งไม่ใช่เหตุผลเดียวของการมุ่งหมายไทย เพราะไทยมีความสำคัญอีกหลายอย่างอันจะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงในอนาคต อย่างที่หนึ่งประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรทางการเกษตรรวมไปถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางอาหารหรือผลผลิตอันเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร พื้นที่ทางการเกษตรของไทยมีปริมาณมากถึง 40.62% ของพื้นที่ทั้งประเทศ 29% จัดเป็นพื้นที่เพาะปลูก ศักยภาพทางเกษตรกรรมของไทยทำให้มีข่าวกว้านซื้อที่ดินโดยชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาหรับ6 อย่างที่สองประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค การแพทย์ และการคมนาคม แม้ในด้านโลจิสติกส์ไทยก็มีบริการครบวงจร ได้แก่ บริการคลังสินค้า บริการจัดส่งพัสดุ บริการด้านบรรจุภัณฑ์ บริการขนส่งทางรางระหว่างประเทศ การยกขนสินค้าขนส่งทางทะเล ฯลฯ7 อย่างที่สามประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจในแง่ของการผลิตและการลงทุน นอกจากสินค้าทางการเกษตรแล้วไทยยังเด่นในด้านงานบริการรวมทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมประเภทสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ยานยนต์ ฯลฯ8 เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติปี พ.ศ. 2562 ก็มีมากถึง 22,153 ล้านบาท (ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน)9 นี่บ่งบอกความเชื่อมั่นต่อทรัพยากรบุคคล ระบบสาธารณูปโภค โอกาสทางการตลาด และกระบวนการที่เกี่ยวข้องของไทย อย่างที่สี่ประเทศไทยมีความเหมาะสมสำหรับการพักอาศัยจนกลายเป็นปลายทางยอดนิยมของคนหลังวัยเกษียณ10 การสำรวจตัวเลขช่วงปี พ.ศ. 2556-2560 เผยว่าประชากรมากที่สุด 10 อันดับแรกมาจากประเทศอังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และนอร์เวย์ตามลำดับ สภาพอากาศ การคมนาคม ความทันสมัยคือแรงจูงใจของการย้ายมาพำนักในประเทศไทย

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์บวกความพร้อมในด้านต่างๆ ดังยกตัวอย่างข้างต้น ประเทศไทยจึงเป็นเสมือนหน่วยสนับสนุนที่ช่วยสร้างความได้เปรียบให้แก่คู่ขัดแย้งได้ดี เป็นความได้เปรียบทั้งในระดับรัฐและประชาชน การเอียงข้างไปยังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างชัดเจนจึงหมายถึงการสร้างภาวะศัตรูกับอีกฝ่าย

อย่างไรก็ตามแม้ภาพภายนอกดูเหมือนว่าไทยอาจจะเอนเอียงไปทางจีนด้วยเหตุว่ารัฐบาลไทยมีปัญหาเรื่องการรัฐประหารสำหรับสหรัฐฯ แต่ท่าทีที่แสดงออกผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความร่วมมือระดับรัฐบ่งชี้ว่าไทยยังคงยึดมั่นแนวทางสายกลางอันเป็นธรรมเนียมการทูตตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมตามที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนายเตช บุนนาคกล่าวว่าการเลือกข้างย่อมไม่ใช่ทางเลือกสำหรับประเทศเล็กอย่างไทย แต่ควรแสวงหาการพึ่งพาอาศัยและรักษาระยะห่างที่เหมาะสม11 ในกรณีคอคอดกระซึ่งมีข่าวว่ารัฐบาลจีนพร้อมสนับสนุน รัฐบาลไทยก็ไม่ได้แสดงสัญญาณตอบรับอย่างชัดเจนด้วยต้องคำนึงถึงปัญหาความมั่นคงที่จะตามมา12 กระทั่งความร่วมมือรถไฟไทย-จีนก็ยังล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้แต่เดิม ในขณะเดียวกันไทยเลือกกระจายความสำคัญไปยังญี่ปุ่น สหรัฐ จีน และอีกหลายประเทศ ตัวอย่างที่น่าสนใจได้แก่ การประกาศความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2562 เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมของไทยเป็นผู้ประสานงานกับ JETRO ของทางญี่ปุ่น13

นอกจากนี้ไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนและยึดมั่นในอุดมการณ์ของอาเซียนอย่างแนบแน่น แนวทางของอาเซียนยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการวางตัว แม้บางประเทศจะเปิดสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบกับจีน แต่บางประเทศเลือกที่จะสงวนบทสรุปไว้เป็นความลับ14 แต่กล่าวได้ว่าอาเซียนพยายามต่อสู้เพื่อรักษาจุดยืนไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งนี้เสมอมาด้วยอาเซียนมุ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่าจะหาสังกัดสำหรับทั้งประชาคม15 ตราบใดที่อาเซียนไม่มีฉันทามติ โอกาสที่ไทยจะประกาศกระชับความสัมพันธ์กับฝ่ายใดเป็นพิเศษย่อมเกิดขึ้นได้ยาก

เหตุปัจจัยอย่างสุดท้ายคือไทยยึดถือผลประโยชน์ร่วมเป็นหลัก จีนยังเจือภาพของผู้รุกล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าการพึ่งพากันและกันอย่างเท่าเทียม แนวทางความสัมพันธ์แบบเดิมจึงยังคงดำเนินต่อไป ที่สำคัญพลังความร่วมมือไม่ได้มาจากภาครัฐฝ่ายเดียว แต่ควรพิจารณาภาคประชาชนไปพร้อมกัน ณ เวลาปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีชาติใดครองความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไทยได้สมบูรณ์ ความกลัวสหรัฐฯ จะเข้ามาใช้พื้นที่ของไทยเพื่อประโยชน์ทางการทหารยังคงพบเห็นได้ในหมู่ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ขณะที่ความกลัวจีนครอบงำพื้นที่ในทางเศรษฐกิจและสังคมก็ปรากฏให้เห็นดาษดื่น ความใกล้ชิดกับจีนจึงยังไม่อาจเป็นไปได้ในระยะเวลาอันใกล้ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ก็เช่นกัน คำตอบจะไม่เป็นอย่างอื่นจนกว่ามีเหตุปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาผลักดัน


รายการอ้างอิง

1Nye, Joseph, Biedenkopf, Kurt, and Shiina, Motoo. 1991. Global Cooperation after the Cold War: A Reassessment of Trilateralism, A Report to the Trilateral Commission: 41. New York: The Trilateral Commission.

2Bangprapa, Mongkol. 2019. “China, Thailand Agree to Boost Ties.” Bangkok Post, 20 September, General. https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1754109/china-thailand-agree-to-boost-ties.

3Pongsudhirak, Thitinan. 2020. “Thailand’s Strategic Drift: Local Politics and Superpower Competition.” [Website]. The Australian Strategic Policy Institute Blog Accessed 21 July. https://www.aspistrategist.org.au/thailands-strategic-drift-local-politics-and-superpower-competition/?fbclid=IwAR2nDs16sfz1r8Z0sVcxbtptvovVz70Z6LTFuVTHhCT_PVZoa_jCMKeLYRQ.

4Korybko, Andrew. 2016. “Throwing Thailand into a Hybrid War Tumult.” [Website]. Global Research Accessed 21 July. https://www.globalresearch.ca/throwing-thailand-into-a-hybrid-war-tumult/5540888?fbclid=IwAR1G76k0wyO_P1EirEMo_Cu2p73Vp4Ezg1ZoMSdqbNA0nILuTwLVBCXaz58.

5นรนารถ, นพ. 2563. “คลองไทย จีนขุด ใครได้ประโยชน์.” ผู้จัดการออนไลน์, 19 มกราคม, บทความ. https://mgronline.com/daily/detail/9630000005935.

6จันทร์อ่อน, นนทกานต์. 2557. ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สํานักวิชาการ สํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา.

7โสรัตน์, ธนิต. 2557. ” ไทยกับการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.” ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาค 2, ปทุมธานี.

8ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร. 2556. การศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพการเกษตรของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสมาชิกอาเซียน กรณีศึกษา กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์. กรุงเทพฯ: ส านักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

9ฐานเศรษฐกิจ. 2562. “ไทยยังเนื้อหอม ต่างชาติยังสนลงทุน.” ฐานเศรษฐกิจ, 3 พฤศจิกายน, การค้า – การเกษตร. https://www.thansettakij.com/content/415990.

10ผู้จัดการออนไลน์. 2562. “ไทยติด 1 ใน 5 ต่างชาติใช้ชีวิตหลังเกษียณ ตลาดสินค้าบริการผู้สูงวัยบูม.” ผู้จัดการออนไลน์, 11 เมษายน, ข่าวธุรกิจการตลาด https://mgronline.com/business/detail/9620000035764.

11หยุ่น, สุทธิชัย. 2562. “วิเทโศบาย iPhone-Huawei ในภาวะไทยถูกกดดันให้เลือกข้าง.” ไทยโพสต์, 1 กรกฎาคม, กาแฟดำ. https://www.thaipost.net/main/detail/39817.

12มติชนทีวี. 2558. เมื่อจีนเสนอ ขุดคอคอดกระ นายกฯ ประยุทธ์ มองเรื่องนี้อย่างไร? California: Youtube LLC. ข่าว.

13ประชาชาติธุรกิจ. 2562. “10 ปีอุตสาหกรรม “ไทย-ญี่ปุ่น” สานต่อนโยบายส่งเสริม ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 ดึงญี่ปุ่นลงทุนเพิ่ม.” ประชาชาติธุรกิจ, 29 สิงหาคม เศรษฐกิจในประเทศ https://www.prachachat.net/economy/news-365961.

14โล่ห์พัฒนานนท์, ฐณยศ. 2562. “ทางสายไหมใหม่ในอาเซียน: หนทางสู่ความร่วมมืออย่างยั่งยืน?” เอเชียปริทัศน์ 40 (1):1-36.

15Tay, Simon, and Wau, Jessica. 2019. “ASEAN Fights to Stay Neutral in the US–China Contest.” [Website]. East Asia Forum Accessed 21 July. https://www.eastasiaforum.org/2019/12/03/asean-fights-to-stay-neutral-in-the-us-china-contest/.


บทความล่าสุด

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา
ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผ

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย
ใต้เงากะอ์บะฮ์: ศาสนา ชาติ และอัตลักษณ์อินโดนีเซีย

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ Di Bawah Lindungan Ka’bah หรือ ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เป็นนวนิยายของ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา หรือ ฮามก้า (Hamka) นักคิดนักเขียนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังกะเบา จากเกาะสุมาตรา ที่ชาวอินโดนีเซียเคารพรั

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”
ไทย-ซาอุดิอาระเบีย: จากสัมพันธ์แตกร้าวสู่ก้าวย่างแห่ง “มิตรภาพใหม่”

โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบียกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2020 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เร

ดร.ศราวุฒิ อารีย์
2563
กระแสเอเชีย
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล
Nyida Parik: การเต้นต้อนรับขบวนเจ้าสาวของชาวกาโล

โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย ชายชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมการแสดง Nyida Parik ที่ลานหญ้าของหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย เข็มนาฬิกาแสดงเวลาตีห้าเศษ แต่แสงอาทิตย์ได้ส่องเหนือหุบเขาบาซาร์ (Basar) จนสว่างไสวแล้ว เช้าวันนี้ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้มาชมการซ้อมเต้น Nyida Parik

ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
2563
กระแสเอเชีย
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”

แปลและเรียบเรียงโดย กรองจันทน์  จันทรพาหา (ที่มาภาพ : https://ss0.bdstatic.com/70cFuHSh_Q1YnxGkpoWK1HF6hhy/it/u=2739498971,358910417&fm=26&gp=0.jpg ) ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ

ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา
2563
กระแสเอเชีย