โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ

Di Bawah Lindungan Ka’bah หรือ ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เป็นนวนิยายของ ศาสตราจารย์ ดร. ฮัจยี อับดุล มาลิก บิน ดร. ซายิก ฮัจยี อับดุล คารีม อัมรุลลา หรือ ฮามก้า (Hamka) นักคิดนักเขียนชาวอินโดนีเซียเชื้อสายมินังกะเบา จากเกาะสุมาตรา ที่ชาวอินโดนีเซียเคารพรักมากที่สุดคนหนึ่ง
นวนิยายที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1938 เรื่องนี้ อาจจะไม่ได้เป็นนวนิยายที่ดีที่สุดของฮัมก้า แต่ก็นับได้ว่าเป็นงานเขียนที่ชาวอินโดนีเชียทั่วไปหลงรักและจดจำได้มากกว่างานชิ้นอื่นของเขา เพราะไม่ว่าจะเป็น Tuan Direktor (1939) หรือ Tenggelamnya Kapal van der Wijck (1939) ก็ล้วนได้รับการเชิดชูจากนักวิจารณ์มากกว่า ความนิยมของผู้คนที่มีต่อนวนิยายเรื่อง Di Bawah Lindungan Ka’bah ทำให้นวนิยายเรื่องนี้มักจะถูกหยิบยกนำมาดัดแปลงสู่สื่ออื่นอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในรูปละครเวที ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และในรูปของภาพยนตร์ ที่กำกับโดยอัสรุล ซานี ในปี ค.ศ. 1977 และที่กำกับโดยฮานนี ซาปุตราในปี ค.ศ. 2011
ภายใต้การปกป้องของกะอ์บะฮ์ เล่าเรื่องชีวิตและการเติบโตของ “ฮามิด” เด็กหนุ่มมุสลิมบนเกาะสุมาตรา ในบริบทสังคมประเพณีนิยมของชุมชนมินังกะเบา (Minangkabau) และระบอบการปกครองอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Netherlands East Indies) ฮามิดกำพร้าบิดาเมื่ออายุได้ 6 ขวบ และได้ติดตามมารดาที่ทำงานเป็นคนรับใช้เข้ามาอาศัยอยู่ในครัวเรือนของครอบครัวชนชั้นสูงชาวมินังกะเบาครอบครัวหนึ่ง

หัวหน้าของครอบครัว ฮัจยี ยัฟฟัร์และอาซีอะห์ภรรยาของเขาเอ็นดูฮามิดเหมือนคนในครอบครัว เลี้ยงดูเขาในฐานะพี่ชายและเพื่อนเล่นของ “ไซนับ” บุตรสาวคนเดียวของครอบครัว เด็กทั้งสองไม่เคยอยู่ห่างกัน จวบจนกระทั่งวันที่ทั้งสองสำเร็จการศึกษาภาคบังคับจากโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยชาวดัตช์ ฮามิดต้องเลือกทางเดินระหว่างการหางานทำเพื่อเลี้ยงตนเองและมารดาหรือต้องหาทุนเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ในขณะที่ทางเดินชีวิตของไซนับนั้นมีทางเลือกอยู่เพียงทางเดียว คือ กลับมาอยู่บ้านเพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของสตรีชั้นสูงชาวมินังและรอวันที่จะมีคู่ครองที่เหมาะสมมาสู่ขอ ทว่าในใจของไซนับนั้นฮามิดคือรักเดียวของเธอที่ไม่อาจเป็นไปได้

ด้วยการเล่าเรื่องและภาษาที่เรียบง่าย ฮามก้าให้ภาพชีวิตประจำวันของคนหนุ่มสาวที่ต้องต่อสู้กับขนบประเพณีที่เคร่งครัดของชุมชนมินังกะเบา (Adat Minangkabau) โดยที่ไม่บีบคั้นอารมณ์ของผู้อ่านจนเกินไป ไซนับยอมรับที่ใช้ชีวิตภายในรั้วรอบขอบชิดตามประเพณี แต่ก็ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่รัก ฮามิดปฏิเสธระบบการแบ่งชนชั้นของชาวมินังกะเบาและเจ้าอาณานิคม โดยมองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนเท่าเทียมกันในสายตาของพระผู้เป็นเจ้า ตามแนวทาง “ศาสนาอิสลามที่แท้จริง” ของขบวนการ “มูฮัมมาดิยะฮ์” (Muhammadiyah) ที่ถือกำเนิดขึ้นบนเกาะชวาในราวปี ค.ศ. 1912
เมื่อฮัจยี ยัฟฟัร์เสียชีวิต ความจำเป็นที่ไซนับจะต้องแต่งงานกับผู้ชายที่เหมาะสมเพื่อเข้ามาดูแลทรัพย์สมบัติและกิจการของครอบครัวก็บังเกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้ล่วงรู้ความในใจของหนุ่มสาวทั้งสอง อาซีอะห์มารดาของไซนับได้ขอร้องให้ฮามิดเกลี้ยกล่อมให้ไซนับแต่งงานกับลูกพี่ลูกน้องของเธอ ฮามิดจำใจต้องทำตามคำขอร้องของผู้มีพระคุณ และออกเดินทางเพื่อไปแสวงบุญยังนครมักกะฮ์ด้วยหัวใจที่แหลกสลายและด้วยความเชื่อที่ว่าตนเองสามารถเกลี้ยกล่อมไซนับได้สำเร็จ
ฮามก้าและขบวนการ “มูฮัมมาดิยะฮ์” (Muhammadiyah)
ขบวนการ “มูฮัมมาดิยะฮ์” (Muhammadiyah) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปศาสนาและสังคมอิสลามที่เกิดขึ้นในอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (อินโดนีเซีย) ตามวิสัยทัศน์ของท่านอะฮ์หมัด ดะลัน เสนาบดีแห่งราชสำนักยกยาร์การ์ตา (Yogyakarta) ที่ต้องการให้ชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงหลักธรรมของศาสนาอิสลามได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องผ่านการตีความของครูสอนศาสนา ขบวนการ “มูฮัมมาดิยะฮ์” (Muhammadiyah) ประสานรูปแบบของการศึกษาสมัยใหม่เข้ากับการเรียนการสอนศาสนา เพื่อช่วยให้คนมุสลิมที่ยากจนสามารถเปลี่ยนสถานะทางสังคมของตน ผ่านการศึกษา ความทันสมัยและหลักธรรมอันแท้จริงของศาสนาอิสลาม โดยแยกความเข้าใจในหลักธรรมออกจากธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือสืบต่อกันมา ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเคารพในศาสนาอื่น

ฮามก้า (Hamka)
ฮามก้าเกิดในครอบครัวศิลปินและนักการศาสนาหัวก้าวหน้าในบริบทของสังคมและศาสนาอิสลามแบบประเพณีนิยมบนเกาะสุมาตรา นับแต่วัยเด็ก ฮามก้าจะได้เห็นความขัดแย้งระหว่างโลกตามประเพณีของชาวมินังกะเบา โลกตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม และโลกสมัยใหม่ภายใต้การปกครองของชาวดัทช์ เมื่อเขาได้ทราบเรี่องราวเกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาและสังคมของขบวนการ “มูฮัมมาดิยะฮ์” (Muhammadiyah) ทำให้เขาเร่งรุดที่จะเดินทางมายังเกาะชวาเพื่อเรียนรู้แนวคิดและแนวปฏิบัติใหม่นี้
ขณะที่พำนักอยู่ในยกยาร์การ์ตา ฮามก้าได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตากับวงการศิลปะที่เฟื่องฟูในยกยาร์การ์ตาและเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมด้านต่างๆ ที่จะส่งอิทธิพลต่องานเขียนของเขา ทั้งในด้านความเท่าเทียมกันในสังคม ด้านสิทธิสตรี หรือการเรียนร้องอิสรภาพจากการปกครองของชาวดัทช์ โดยนอกเหนือจากงานเขียนแล้ว ฮามก้ายังได้ทำงานให้กับขบวนการ “มูฮัมมาดิยะฮ์” (Muhammadiyah) จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต
“อินโดนีเซีย” ผ่านจินตนาการของ Di Bawah Lindungan Ka’bahDi Bawah Lindungan Ka’bah ถูกเขียนขึ้นมาตามขนบของวรรณกรรมใหม่ (Pujangga Baru Literary) ในช่วงเริ่มต้นของการเรียกร้องอิสรภาพและการนำประเทศสู่ความทันสมัย ที่มักจะมีเนื้อหาเกี่ยวของกับสตรีนิยมและอิสรภาพจากอำนาจปกครอง ในจินตนาการของฮามก้านั้นความรักระหว่างฮามิดและไซนับ แม้ว่าจะเป็นความรักที่ไม่มีวันสมหวังในทางกายภาพแต่ก็เป็นความรักที่สมหวังในทางจิตวิญญาณ เขตรั้วบ้านและท้องทะเลระหว่างคนทั้งสองไม่อาจขวางกั้นความถวิลหาระหว่างกันได้ฉันใด ข้อจำกัดทางวัฒธรรมประเพณีและการเมืองการปกครองแบบอาณานิคมก็ไม่อาจขวางกั้นความถวิลหาอิสรภาพของชาวอินโดนีเชียได้ฉันนั้น ในมุมมองของฮัมก้า จิตวิญญาณแห่งอิสลามที่แท้จริงจะเป็นเครื่องนำพาให้อินโดนีเซียได้ค้นพบอิสรภาพ

เมื่อ Di Bawah Lindungan Ka’bah ถูกนำมาจินตนาการใหม่โดย อัสรุล ซานี ในปี ค.ศ. 1977 นั้น อินโดนีเชียถูกปกครองภายใต้ “ระบอบใหม่” (Orde Baru) ของประธานาธิบดี มูฮัมมัด ซูฮาร์โต เสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมือง การแสดงออกศาสนา และการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัด เพื่อความสงบสุขและความเป็นเอกภาพของสังคม
ในภาพยนตร์ฉบับที่กำกับโดยอัสรุล ซานี ฮามิดและไซนับถูกใช้ให้เป็นภาพตัวแทนของการเรียนร้องเสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตและในการแสดงออกของชาวอินโดนีเซีย สำหรับอัสรุล ซานี หลักธรรมอิสลาม (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นศาสนาอิสลาม) ประเทศอินโดนีเชียและการเมืองเป็นสามสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้ไซนับร้องตะโกนบทพูดที่ไม่มีอยู่ในนิยายในฉากหนึ่งของภาพยนตร์ว่า “Mencintai negara Anda adalah setengah dari agama Anda!” (ความรักต่อประเทศมีค่าเพียงครึ่งหนึ่งของความรักต่อศาสนา) ในขณะที่ในอีกฉากหนึ่ง ผู้ชมก็จะได้เห็นครูสอนศาสนาถูกจับกุมโดยกลุ่มทหาร ขณะที่ครูสอนศาสนาคนนั้นกำลังอธิบายให้ที่ประชุมฟังว่าอะไรคือจิตวิญญาณของอินโดนีเซีย
ในปี ค.ศ. 2011 อันเป็นปีที่ Di Bawah Lindungan Ka’bah ฉบับของ ฮานนี ซาปุตรากำกับออกฉาย อินโดนีเชียได้ก้าวเข้าสู่การปฏิรูปการเมืองการปกครอง (Reformasi) มากว่า 10 ปีแล้ว นอกเหนือจากเสรีภาพทางการเมืองและการแสดงออก ก็คือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและอิทธิพลของอิสลามนิยม (Islamist) ในการเมืองและสังคม ซึ่ง Di Bawah Lindungan Ka’bah ก็สะท้อนบริบทของสังคมดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมจะรู้สึกได้ทันทีก็คือจำนวนของการวางตำแหน่งสินค้า (Product Placement) ในภาพยนตร์ ทั้งที่สินค้าตัวนั้นไม่ได้อยู่ในยุคสมัยเดียวกันกับเนื้อเรื่อง
ในขณะที่อัสรุล ซานนี พยายามที่จะวาง Di Bawah Lindungan Ka’bah ฉบับปี ค.ศ. 1977 ในบริบททางประวัติศาสตร์ที่นวนิยายเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้น Di Bawah Lindungan Ka’bah ฉบับปี ค.ศ. 2011 ของฮานนี ซาปุตราได้ใช้องค์ประกอบของนวนิยายเรื่องนี้อย่างหลวมๆ พื่อกำลังสร้างสำนึกใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และปัจจุบันกาลของอินโดนีเซียหลังการปฏิรูป ในมิติหนึ่งนั้น เราจะเห็นได้ถึงอิทธิพลของทุนที่เข้ามากำหนดการสร้างสรรค์ ในอีกมิติหนึ่งนั้น เราก็อาจกล่าวได้ว่า ฮานนี ซาปุตรานั้นเป็นผลผลิตของโลกหลังสมัยใหม่ที่ไม่ใส่ใจต่อความถูกต้องทางประวัติศาสตร์
ในภาพยนตร์ Di Bawah Lindungan Ka’bah ฉบับปี ค.ศ. 2011 เรื่องราวการต่อสู้ดิ้นรนของตัวละครต่อข้อจำกัดทางประเพณี ทางความคิดและทางการเมือ งจึงถูกทำให้เหลือเพียงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อความรักของวัยรุ่นในโลกอุดมคติแบบอิสลาม เช่นเดียวกันภาพสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนมินังกะเบาที่เป็นพันธนาการของตัวละครตามท้องเรื่องก็ถูกทำให้เป็นภาพอดีตที่น่าถวิลหา (Nostalgia)
จึงไม่น่าแปลกใจ ที่นักวิจารณ์ต่างก็ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวละครเอกใน Di Bawah Lindungan Ka’bah ฉบับปี ค.ศ. 2011 นี้ คือเมืองปะดัง (Padang) อดีตเมืองหลวงของชาวมินังกะเบาที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ผ่านการนำเสนอของภาพยนตร์
รายการอ้างอิง
Hamka. Di Bawah Lindungan Ka’bah
Rush, James R. Hamka’s Great Story: A Master Writer’s Vision of Islam for Modern Indonesia. The American Historical Review, Volume 123, Issue 2, April 2018, Pages 566–567,https://doi.org/10.1093/ahr/123.2.566
Mubarak, Makbul (28 August 2011). From Masterpiece to Teen Flick. The Jakarta Post. Archived from the original on 21 May 2012. Retrieved 21 August 2019.