Publication

Home / Publication

เลือกตั้งญี่ปุ่น จากเศรษฐกิจสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย ดร. ทรายแก้ว ทิพากร – กรรมการบริหารศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย – นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เลือกตั้งญี่ปุ่น จากเศรษฐกิจสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดร. ทรายแก้ว ทิพากร
– กรรมการบริหารศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย
– นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1529


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2016  รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูง (House of Councilors)  ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ครั้งที่ 3 ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งและจัดตั้งรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2012  ผลการเลือกตั้งพรรครัฐบาล LDP (Liberal Democratic Party) และพรรคร่วมรัฐบาล Komeito ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ทำให้พรรค LDP กลับมาเป็นพรรคที่มีจำนวนเสียงข้างมากในสภาสูงอีกครั้งหนึ่ง หลังที่จากที่เสียสถานะนี้ไปในปี 1989  ประเด็นที่เป็นจุดขายของฝ่ายรัฐบาลคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง ก็หมายความว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล (ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีผู้บริโภคเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2019) ได้รับการยอมรับ  แต่ความหมายของชัยชนะครั้งนี้กว้างไกลไปถึงความเป็นไปได้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศก่อสงครามโลกครั้งที่สอง ความทรงจำของคนทั่วไปมีภาพว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กระหายสงคราม ทหารญี่ปุ่นเป็นพวกที่มีความทารุณโหดร้าย จนปัจจุบันนี้ก็ยังมีเสียงร้องเรียนจากหลายประเทศในเอเชีย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของทหารญี่ปุ่น ดังนั้น เพื่อให้นานาประเทศมั่นใจว่าญี่ปุ่นจะไม่ก่อสงครามอีก รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา มีนโยบายยึดมั่นในรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งประกาศว่า ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ที่จะใช้สงครามเป็นวิธีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพ แต่มีกองกำลังป้องกันตนเอง ซึ่งมีปฏิบัติการที่จำกัดเฉพาะการป้องกันตนเองอย่างแท้จริง เคยมีการส่งกองกำลังป้องกันตนเองออกไปปฏิบัติการร่วมกับประเทศอื่นเพื่อการรักษาสันติภาพ แต่บทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองก็อยู่ในขอบเขตที่จำกัด เช่น การฟื้นฟูและการกู้ภัย เป็นต้น

การเลือกตั้งสภาสูงครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับแก้การตีความรัฐธรรมนูญ ให้ญี่ปุ่นสามารถปฏิบัติการป้องกันตนเองร่วมกับประเทศอื่น (collective self-defense) ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีการประท้วงต่อต้านกันอย่างรุนแรงมาแล้ว ทั้งจากประชาชนทั่วไป นักวิชาการ และพรรคฝ่ายค้าน ความกังวลของฝ่ายต่อต้านก็คือ เมื่อญี่ปุ่นสามารถป้องกันตนเองร่วมกับประเทศอื่นได้ ญี่ปุ่นอาจต้องถูกผลักดันให้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีปฏิบัติการทางทหาร และมีความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆไปทั่วโลก เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น อาจต้องเข้าไปพัวพันและเสียเลือดเนื้อเพื่อประเทศอื่น ไม่ใช่เพื่อญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องในสงคราม ประเทศญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นก็จะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านเอเชียซึ่งเคยประสบกับการสูญเสียในสงครามกับญี่ปุ่นก็จะไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน  การต่อต้านเหล่านี้น่าจะหมายถึงความไม่พอใจหากรัฐบาลจะจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับแสดงถึงการสนับสนุนให้พรรค LDP จัดตั้งรัฐบาลต่อไป  การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสภาผู้แทนราษฎร และอีก 2 ใน 3 จากสภาสูง หลังจากนั้นยังต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติอีกด้วย ขณะนี้ผลการเลือกตั้งสภาสูงทำให้รัฐบาลของนายอาเบะ ซึ่งประกอบด้วยพรรค LDP และ Komeito มีคะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 จากทั้งสองสภา ยังไม่นับรวมคะแนนเสียงจากผู้แทนคนอื่นๆ ที่อาจเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกด้วย แต่นั่นจะหมายความว่าชาวญี่ปุ่นต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่

ดังได้กล่าวแล้วว่าประเด็นของการเลือกตั้งในครั้งนี้จากที่ได้มีการสำรวจกันมาแล้วว่า ความสนใจของประชาชนอยู่ที่เรื่องสวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ  NHK ได้ทำการสำรวจในวันที่ 24-26 มิถุนายน 2016 พบว่า ประเด็นที่อยู่ในใจมากที่สุดคือสวัสดิการสังคม 1 ซึ่งนายอาเบะเลือกที่จะชูประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นจุดขายในการหาเสียง ทั้งนี้เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว และเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถหาข้อเสนอที่ดีกว่ามานำเสนอ ทั้งยังเป็นจุดอ่อนของพรรคฝ่ายค้าน Democratic Party of Japan ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล แต่กลับไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากปัญหาเงินฝืดด้วยวิธีการที่เสนอเอาไว้  ทิศทางที่พรรค LDP ดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคของรัฐบาลนี้ ได้รับการเรียกขานว่า Abenomics ตามชื่อของนายกรัฐมนตรีอาเบะผู้เสนอแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ตั้งแต่สมัยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2012 ที่ทำให้ได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สอง  หลักการของ Abenomics เน้นการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การผ่อนคลายนโยบายด้านการเงิน และการปฏิรูปโครงสร้าง  ในการหาเสียงนายอาเบะประกาศว่า จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกภายในปีนี้ และจะเพิ่ม GDP ให้ถึง 600 ล้านล้านเยน แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีผู้บริโภคจากเดิม 8% เป็น 10% ภายในปี 2017 ออกไปถึงปี 2019  ซึ่งแม้จะดูว่าไม่ได้ยึดมั่นในหลักการเดิม แต่ก็อาจจะช่วยให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนได้

ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจกับเรื่องของเศรษฐกิจอยู่นี้ รัฐบาลจะถือเป็นโอกาสที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ชัดเจนตั้งแต่นายอาเบะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2007 ว่า นายอาเบะมีความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศ “ปกติ” ทั้งนี้ชาวญี่ปุ่นที่มีความเห็นสอดคล้องกันไม่ได้มีเพียงนักการเมืองเท่านั้น ยังมีกลุ่มที่รักชาติที่ต้องการจะเห็นญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงหลังมานี้กระแสชาตินิยมเผยแพร่ออกไปกว้างขวางมากขึ้น  ได้มีการจัดตั้งกลุ่มศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในกลุ่มนักการเมืองและในระดับบุคคลทั่วไป ในส่วนของพรรค LDP ได้เคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขขึ้นมาในปี 2012 ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีจำนวนไม่น้อย ความน่ากังวลอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจหมายถึง ญี่ปุ่นจะสามารถมีกองทหารและสามารถทำสงครามกับประเทศอื่นได้อีก สำหรับนานาประเทศ คำถามก็คือ ญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นประเทศกระหายสงครามอีกหรือไม่

ทัศนคติและความต้องการของประชาชนในประเทศ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในขณะนี้เกิดความเห็นที่แตกแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับกลุ่มที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเปิดทางให้รัฐบาลทำตามแนวนโยบายของตน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในขณะนี้คือประเด็นเรื่องปากท้อง ส่วนความมั่นคงและแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นรอง ยิ่งไปกว่านั้นการที่นายกรัฐมนตรีอาเบะและพรรค LDP เลือกใช้ประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นจุดขายในการหาเสียง ยังสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลก็ตระหนักดีว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะเร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

——————————————

อ้างอิง

1 “Focus on Economy, Failure of Opposition Clears Way for Abe’s LDP in national Election” Japan Times 11 กรกฏาคม 2016  

Keywords : การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, มาตรา 9, กระแสชาตินิยมญี่ปุ่น, การเลือกตั้งสภาสูงญ๊่ปุ่น, ทรายแก้ว ทิพากร


Latest articles

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม
ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

โดย ดร. อารีฝีน ยามา นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม เมื่อพูดถึงคำว่า “โลกมุสลิม” หลายคนมักจะเข้าใจว่ามีเพียงแค่ภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จริง ๆ แล้วโลกมุสลิมนั้นกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เพราะนอกจาก

ดร. อารีฝีน ยามา
2019
thaiworld
สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น
สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น

โดย สุดปรารถนา ดวงแก้ว นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการผลิต กา

สุดปรารถนา ดวงแก้ว
2019
thaiworld
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก
ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู: ครูของลูก บรมครูของโลก

The public intellectuals of the Indian Sub-Continent have a great influence on young people's perceptions. Especially the driving system of politics and government They are regarded as "The precursor" through writings and the struggle for independence from the British colonies Therefore not surpris

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
2019
thaiworld
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5

โดย ปภังกร เสลาคุณ ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯ ได้มากเท่ากับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ

ปภังกร เสลาคุณ
2019
thaiworld
การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018
การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018

โดย วินิสสา อุชชิน การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018 วินิสสา อุชชินนักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วเมื่อปี 2013 พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodia People’s Party: CPP) ซึ่งสมเด็จฮุน เซน เป็นประธานพรรค ชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่งในรัฐสภา

วินิสสา อุชชิน
2018