Article from Japan-ASEAN Studies Center

เลือกตั้งญี่ปุ่น จากเศรษฐกิจสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดย ดร. ทรายแก้ว ทิพากร – กรรมการบริหารศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย – นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เลือกตั้งญี่ปุ่น จากเศรษฐกิจสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ดร. ทรายแก้ว ทิพากร
– กรรมการบริหารศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย
– นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1529


เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2016  รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูง (House of Councilors)  ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ครั้งที่ 3 ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งและจัดตั้งรัฐบาลในเดือนธันวาคม 2012  ผลการเลือกตั้งพรรครัฐบาล LDP (Liberal Democratic Party) และพรรคร่วมรัฐบาล Komeito ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ทำให้พรรค LDP กลับมาเป็นพรรคที่มีจำนวนเสียงข้างมากในสภาสูงอีกครั้งหนึ่ง หลังที่จากที่เสียสถานะนี้ไปในปี 1989  ประเด็นที่เป็นจุดขายของฝ่ายรัฐบาลคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เมื่อพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง ก็หมายความว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล (ซึ่งรวมถึงการขึ้นภาษีผู้บริโภคเป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2019) ได้รับการยอมรับ  แต่ความหมายของชัยชนะครั้งนี้กว้างไกลไปถึงความเป็นไปได้ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศก่อสงครามโลกครั้งที่สอง ความทรงจำของคนทั่วไปมีภาพว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่กระหายสงคราม ทหารญี่ปุ่นเป็นพวกที่มีความทารุณโหดร้าย จนปัจจุบันนี้ก็ยังมีเสียงร้องเรียนจากหลายประเทศในเอเชีย ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของทหารญี่ปุ่น ดังนั้น เพื่อให้นานาประเทศมั่นใจว่าญี่ปุ่นจะไม่ก่อสงครามอีก รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา มีนโยบายยึดมั่นในรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ซึ่งประกาศว่า ญี่ปุ่นสละสิทธิ์ที่จะใช้สงครามเป็นวิธีการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ ญี่ปุ่นไม่มีกองทัพ แต่มีกองกำลังป้องกันตนเอง ซึ่งมีปฏิบัติการที่จำกัดเฉพาะการป้องกันตนเองอย่างแท้จริง เคยมีการส่งกองกำลังป้องกันตนเองออกไปปฏิบัติการร่วมกับประเทศอื่นเพื่อการรักษาสันติภาพ แต่บทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองก็อยู่ในขอบเขตที่จำกัด เช่น การฟื้นฟูและการกู้ภัย เป็นต้น

การเลือกตั้งสภาสูงครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก หลังจากที่รัฐบาลได้ปรับแก้การตีความรัฐธรรมนูญ ให้ญี่ปุ่นสามารถปฏิบัติการป้องกันตนเองร่วมกับประเทศอื่น (collective self-defense) ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง มีการประท้วงต่อต้านกันอย่างรุนแรงมาแล้ว ทั้งจากประชาชนทั่วไป นักวิชาการ และพรรคฝ่ายค้าน ความกังวลของฝ่ายต่อต้านก็คือ เมื่อญี่ปุ่นสามารถป้องกันตนเองร่วมกับประเทศอื่นได้ ญี่ปุ่นอาจต้องถูกผลักดันให้ช่วยเหลือประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังมีปฏิบัติการทางทหาร และมีความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆไปทั่วโลก เจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่น อาจต้องเข้าไปพัวพันและเสียเลือดเนื้อเพื่อประเทศอื่น ไม่ใช่เพื่อญี่ปุ่นเท่านั้น เมื่อมีผลประโยชน์เกี่ยวเนื่องในสงคราม ประเทศญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นก็จะไม่ปลอดภัยเหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านเอเชียซึ่งเคยประสบกับการสูญเสียในสงครามกับญี่ปุ่นก็จะไม่พอใจ และอาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน  การต่อต้านเหล่านี้น่าจะหมายถึงความไม่พอใจหากรัฐบาลจะจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้กลับแสดงถึงการสนับสนุนให้พรรค LDP จัดตั้งรัฐบาลต่อไป  การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสภาผู้แทนราษฎร และอีก 2 ใน 3 จากสภาสูง หลังจากนั้นยังต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติอีกด้วย ขณะนี้ผลการเลือกตั้งสภาสูงทำให้รัฐบาลของนายอาเบะ ซึ่งประกอบด้วยพรรค LDP และ Komeito มีคะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน 3 จากทั้งสองสภา ยังไม่นับรวมคะแนนเสียงจากผู้แทนคนอื่นๆ ที่อาจเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกด้วย แต่นั่นจะหมายความว่าชาวญี่ปุ่นต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่

ดังได้กล่าวแล้วว่าประเด็นของการเลือกตั้งในครั้งนี้จากที่ได้มีการสำรวจกันมาแล้วว่า ความสนใจของประชาชนอยู่ที่เรื่องสวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ  NHK ได้ทำการสำรวจในวันที่ 24-26 มิถุนายน 2016 พบว่า ประเด็นที่อยู่ในใจมากที่สุดคือสวัสดิการสังคม 1 ซึ่งนายอาเบะเลือกที่จะชูประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นจุดขายในการหาเสียง ทั้งนี้เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว และเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถหาข้อเสนอที่ดีกว่ามานำเสนอ ทั้งยังเป็นจุดอ่อนของพรรคฝ่ายค้าน Democratic Party of Japan ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล แต่กลับไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากปัญหาเงินฝืดด้วยวิธีการที่เสนอเอาไว้  ทิศทางที่พรรค LDP ดำเนินการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคของรัฐบาลนี้ ได้รับการเรียกขานว่า Abenomics ตามชื่อของนายกรัฐมนตรีอาเบะผู้เสนอแนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจนี้ ตั้งแต่สมัยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2012 ที่ทำให้ได้รับเลือกเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สอง  หลักการของ Abenomics เน้นการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ การผ่อนคลายนโยบายด้านการเงิน และการปฏิรูปโครงสร้าง  ในการหาเสียงนายอาเบะประกาศว่า จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกภายในปีนี้ และจะเพิ่ม GDP ให้ถึง 600 ล้านล้านเยน แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมเลื่อนกำหนดการขึ้นภาษีผู้บริโภคจากเดิม 8% เป็น 10% ภายในปี 2017 ออกไปถึงปี 2019  ซึ่งแม้จะดูว่าไม่ได้ยึดมั่นในหลักการเดิม แต่ก็อาจจะช่วยให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนได้

ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นกำลังให้ความสนใจกับเรื่องของเศรษฐกิจอยู่นี้ รัฐบาลจะถือเป็นโอกาสที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ชัดเจนตั้งแต่นายอาเบะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2007 ว่า นายอาเบะมีความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศ “ปกติ” ทั้งนี้ชาวญี่ปุ่นที่มีความเห็นสอดคล้องกันไม่ได้มีเพียงนักการเมืองเท่านั้น ยังมีกลุ่มที่รักชาติที่ต้องการจะเห็นญี่ปุ่นที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงหลังมานี้กระแสชาตินิยมเผยแพร่ออกไปกว้างขวางมากขึ้น  ได้มีการจัดตั้งกลุ่มศึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งในกลุ่มนักการเมืองและในระดับบุคคลทั่วไป ในส่วนของพรรค LDP ได้เคยมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขขึ้นมาในปี 2012 ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติ อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มประชาชนที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีจำนวนไม่น้อย ความน่ากังวลอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจหมายถึง ญี่ปุ่นจะสามารถมีกองทหารและสามารถทำสงครามกับประเทศอื่นได้อีก สำหรับนานาประเทศ คำถามก็คือ ญี่ปุ่นจะกลับมาเป็นประเทศกระหายสงครามอีกหรือไม่

ทัศนคติและความต้องการของประชาชนในประเทศ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในขณะนี้เกิดความเห็นที่แตกแยกกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มที่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับกลุ่มที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะเปิดทางให้รัฐบาลทำตามแนวนโยบายของตน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนในขณะนี้คือประเด็นเรื่องปากท้อง ส่วนความมั่นคงและแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นรอง ยิ่งไปกว่านั้นการที่นายกรัฐมนตรีอาเบะและพรรค LDP เลือกใช้ประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นจุดขายในการหาเสียง ยังสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลก็ตระหนักดีว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่จะเร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ

——————————————

อ้างอิง

1 “Focus on Economy, Failure of Opposition Clears Way for Abe’s LDP in national Election” Japan Times 11 กรกฏาคม 2016  

Keywords : การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, มาตรา 9, กระแสชาตินิยมญี่ปุ่น, การเลือกตั้งสภาสูงญ๊่ปุ่น, ทรายแก้ว ทิพากร


Latest articles

สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น
สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น

โดย สุดปรารถนา ดวงแก้ว นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการผลิต กา

สุดปรารถนา ดวงแก้ว
2019
thaiworld