Article from Muslim Studies Center

Muslim studies center

The Muslim Studies is an inter-disciplinary research unit which has been set up to cope with current situations and changes in Asia and the World. The variability and flexibility of Muslim practices and perspectives have not featured in this discourse. It leaves the public largely unaware of complexities, achievements and challenges of the Muslim World. The Center is working to fulfill this imbalance by broadening the studies and discussion to introduce more comparison and complexity in the study of Muslim affairs from Middle East, through the South Asia, East Asia and Malay world. By focusing on Muslim studies, the Center encourages the shift in analysis from the notion of a single unitary religious matters defined by Islam to a more complex view of Muslims as agents in the construction of their own experience and history. The Center is moving into the future with the vision of being a source of Muslim knowledge and reference for national and international community. This accomplishment will be fulfilled by a team work of qualified researchers who are expert on various dimensions relating to the Muslim World.

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

โดย ดร. อารีฝีน ยามา นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยต่อตะวันออกกลางและโลกมุสลิม

เมื่อพูดถึงคำว่า “โลกมุสลิม” หลายคนมักจะเข้าใจว่ามีเพียงแค่ภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่จริง ๆ แล้วโลกมุสลิมนั้นกินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เพราะนอกจากจะหมายถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางแล้ว ยังประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาเหนือที่ประกอบไปด้วยประเทศแอลจีเรีย อียิปต์ ลิเบีย โมร็อคโก ซูดาน ตูนิเซีย และซาฮาราตะวันตก กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน กระทั่งบางส่วนของฟิลิปปินส์ที่มีประชากรมุสลิมเป็นจำนวนมาก ส่วนในเอเชียกลางมีประเทศคาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กิซสถาน และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้อย่าง ประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน บังคลาเทศ มัลดีฟ และอินเดีย ถึงแม้ในอินเดียนั้นจะมีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ก็เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีประชากรมากถึง 185 ล้านคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งถ้ารวมประชากรมุสลิมทั่วโลกแล้วมีประมาณ 1.6 พันล้านคน ฉะนั้นหากเราดูโลกมุสลิมจะมีความหมายที่กว้างมาก แต่เพื่อให้ง่ายในการทำความเข้าใจในความหมายที่กว้าง สามารถจำแนกความหมายออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ความหมายในเชิงวัฒนธรรม คือเป็นประชาคมโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนาอิสลาม ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกด้วยเส้นแบ่งเขตพรมแดน หรือด้วยความเป็นรัฐชาติ และไม่ได้แบ่งแยกตามชาติพันธุ์ แต่เป็นความศรัทธาเชื่อมั่นร่วมกันในมิติของศาสนาอิสลาม

2. ความหมายในเชิงการเมืองและบริบททางประวัติศาสตร์ คือเป็นกลุ่มประเทศที่ศาสนาอิสลามมีอิทธิพลสูงในด้านการเมืองการปกครอง และการดำเนินนโยบายการต่างประเทศโดยอาศัยหลักการทางศาสนาอิสลาม

ในการบรรยายเรื่อง “นโยบายประเทศมุสลิมต่อความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียและไทย” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2019 ที่ผ่านมา จะพูดถึงเฉพาะภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa: MENA) เท่านั้น ซึ่งการรวมเอากลุ่มประเทศในภูมิภาคแอฟริกาเหนือเข้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางด้วยนั้น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของ ภาษา สังคม วัฒนธรรม และที่สำคัญสิ่งที่มีความใกล้ชิดกันมากที่สุดคือความเป็นอิสลาม

การที่กระทรวงต่างประเทศให้ความสำคัญกับตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อโลกมุสลิมนั้น เป็นเพราะว่าภูมิภาคตะวันออกกลางมีความสำคัญในหลาย ๆ ด้าน หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ จะเห็นได้ว่าภูมิภาคนี้เป็นแหล่งอารยธรรม และแหล่งกำเนิดศาสนาเอกเทวนิยมที่สำคัญของโลก 3 ศาสนา คือ ยูดาย คริสต์ และอิสลาม รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่สำคัญของโลกมุสลิมทั้ง 3 แห่ง คือ นครมักกะฮฺ นครมาดีนะฮฺ และนครเยรูซาเล็ม ส่วนความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ภูมิภาคแห่งนี้ถือเป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติอันมหาศาล อาทิ ก๊าซ น้ำมัน และพลังงานทดแทน ความสำคัญประเด็นต่อมาที่ไม่ค่อยพูดถึงกันแต่มีความสำคัญไม่น้อยในทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ คือเป็นจุดเชื่อมโยงกันของทั้ง 3 ทวีปอันได้แก่ ทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ฉะนั้นในความเป็นจุดเชื่อมต่อกันของทั้ง 3 ทวีป หลายประเทศจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อภูมิภาคแห่งนี้ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ภูมิภาคนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของปัญหาผู้ลี้ภัยรวมถึงปัญหาการก่อการร้ายที่แทรกซึมเข้าถึงยุโรปได้โดยง่าย ฉะนั้น ยุโรปจึงให้ความสำคัญกับภูมิภาคแห่งนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วภูมิภาคตะวันออกกลางยังเป็นแหล่งกระจายสินค้าและเป็นทางผ่านของสินค้าจากเอเชียเข้าสู่ยุโรปและแอฟริกา ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นเส้นทางลำเลียงของสรรพาวุธอีกด้วย ในส่วนของบริเวณทะเลแดง (Red Sea) และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ มีฐานทัพของประเทศมหาอำนาจมากมายรายล้อมอยู่ในพื้นที่เพื่อชิงความได้เปรียบในภูมิภาค ดูได้จากกรณีของรัสเซียที่ยังแน่วแน่อยู่กับซีเรีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ารัสเซียมีฐานทัพสำคัญอยู่ในซีเรีย และเป็นฐานทัพเดียวที่สามารถออกสู่ทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้

ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นพื้นที่ ๆ มีความอ่อนไหวและเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้คนที่มีความคับแค้นและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้อยู่ตลอดเวลา จนนำไปสู่ปัญหาที่ผู้คนมักเรียกกันว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศของโลก และเป็นภูมิภาคของการขยายอิทธิพลของเหล่าประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และกลุ่มประเทศในยุโรป ประเทศเหล่านี้ต่างมุ่งมาภูมิภาคแห่งนี้เพื่อเข้ามาขยายอิทธิพลและป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาขยายอำนาจในพื้นที่ได้ นอกจากการแข่งขันกันแผ่อิทธิพลของบรรดาประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคแล้ว ประเทศสมาชิกในภูมิภาคนี้ยังมีการแข่งขันกันเองอีกด้วย ผลที่ตามมาจึงก่อให้เกิดความซับซ้อนของปัญหาในหลายพื้นที่

สำหรับประเทศไทยแล้วภูมิภาคตะวันออกกลางมีความสำคัญยิ่งที่ประเทศไทยต้องได้รับความร่วมมือและความเข้าใจในกรอบของมุสลิม เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งประเทศไทยต้องการความร่วมมือจากประเทศเหล่านี้ในเรื่องของข่าวกรอง และการต่อต้านการก่อการร้าย ในเชิงของเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกกลางถือว่ามีความสำคัญเช่นกันสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นแหล่งที่มีความมั่งคั่งทางพลังงาน เป็นตลาดที่ไทยจะสามารถส่งออกแรงงานได้ เป็นจุดเชื่อมต่อในการขยายสินค้าในภูมิภาคและส่งต่อไปยังยุโรปรวมถึงเอเชียกลาง อีกทั้งภูมิภาคแห่งนี้ยังมีความสำคัญต่อประเทศไทยในความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมฮาลาล ฉะนั้นในการกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยต่อภูมิภาคตะวันออกกลางและโลกมุสลิมจะต้องกำหนดจากความสำคัญของภูมิภาค การตระหนักว่าประเทศไทยต้องการอะไรจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ หรือภูมิภาคแห่งนี้มีความสำคัญอย่างไรกับประเทศไทยถือว่ายังไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบในการกำหนดนโยบายด้วย เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ คือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค ตะวันออกกลางและโลกมุสลิมซึ่งสามารถดูได้จากหลายมิติ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ คือ 1) มิติความเชื่อทางศาสนา 2) มิติทางการเมืองระหว่างประเทศ

1. มิติความเชื่อทางศาสนา ประเด็นหลักจะเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างสำนักคิดคือซุนหนี่กับชีอะห์ ซึ่งฝ่ายของซุนหนี่จะมีซาอุดิอาระเบียที่มีบทบาทสำคัญ และกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (GCC: Gulf Cooperation Council) เป็นพันธมิตร หลายครั้งที่เหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะผู้ปกครองและประชาชนใต้การปกครองเป็นคนละสำนักคิดกัน ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและวุ่นวายในประเทศ เช่นกรณีของประเทศบาห์เรน เป็นต้น ส่วนทางฝ่ายชีอะห์ประกอบไปด้วยประเทศ อิหร่าน ซีเรีย เลบานอนที่มีเครือข่ายฮิสบุลเลาะฮฺ (Hezbollah) รวมไปถึงกลุ่มรัฐบาลของประเทศ อิรัก และเยเมน ที่มีบทบาทสำคัญ

2. มิติทางการเมืองระหว่างประเทศ สามารถแบ่งออกได้ดังนี้คือ 1) สหรัฐอเมริกา และกลุ่มพันธมิตรอย่าง ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน อิสราเอล และกลุ่มประเทศ GCC ซึ่งในขณะนี้ GCC เองก็มีความระหองระแหงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก เห็นได้จากกรณีที่กาตาร์พยายามตีตัวออกห่างจากอิทธิพลชองซาอุดิอาระเบีย ซึ่งสร้างความไม่พึงพอใจให้กับซาอุดิอาระเบียและสมาชิกกลุ่ม GCC นำไปสู่การตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ในที่สุด 2) ฝ่ายต่อต้านสหรัฐอเมริกาที่นำโดย อิหร่าน ซีเรีย และเลบานอน 3) ฝ่ายใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางมีประเทศตุรกีที่พยายามขยายอิทธิพลของตนเองในภูมิภาคโดยมีการเสนอ Islamic Model ใหม่ ๆ ขึ้นมา และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่าน ทั้งยังเป็นเพื่อนที่ดีที่คอยดูแลปาเลสไตน์ และมีความใกล้ชิดกับกาตาร์ที่เป็นประเทศเล็ก ๆ ในกลุ่มสมาชิก GCC ที่ร่ำรวยและมั่งคั่งไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 4) ฝ่ายที่มีนโยบายเป็นกลางอย่างประเทศโอมาน ซึ่งก็ไม่ได้เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งมากนัก เป็นประเทศที่พยายามรักษาความเป็นกลาง และมีบทบาทในเรื่องของการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยประเทศคู่ที่มีข้อพิพาทและความขัดแย้ง จะเห็นได้ว่าในระยะหลังโอมานมีบทบาทเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับภูมิภาคแห่งนี้ เพราะจริง ๆ แล้วประเทศอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีมาตลอดเพียงแค่ไม่เปิดเผยเท่านั้น 5) นอกจากฝ่ายต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ เช่น ฮามาส (Hamas) ฮิสบุลเลาะฮฺ (Hezbollah) อัลกออิดะฮฺ และไอซิส (ISIS) ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ก็เป็นกลุ่มสำคัญที่จะทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางมีพลวัตสูง และมีประเด็นมากมายที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายต้องติดตาม

การกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศต่อภูมิภาคแห่งนี้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาในภูมิภาคอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน ประเด็นของอิหร่าน ปัญหาในซีเรีย เยเมน และลิเบีย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นตัวกำหนดการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางและโลกมุสลิม การที่ประเทศไทยจะกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายต่าง ๆ สิ่งแรกที่ต้องรู้คือ ภูมิภาคตะวันออกกลางมีพลวัตสูง มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นพลวัตที่พัวพันและเชื่อมโยงกันทั่วภูมิภาค กล่าวคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศใกล้เคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งประเทศไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประเด็นต่อมาคือความสัมพันธ์ระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอล ในอดีตกลุ่มประเทศอาหรับไม่เคยยอมรับอิสราเอลเลย กลับกันในปัจจุบันจะเห็นว่าโลกอาหรับเริ่มเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์กับอิสราเอลมากขึ้น เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมา การที่รัฐมนตรีวัฒนธรรมของอิสราเอลเดินทางไปดูกีฬาที่ประเทศสหรัฐอาหรับอิมิเรต การเดินทางเยือนประเทศโอมานอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู และการที่ผู้นำระดับสูงของสหรัฐอาหรับอิมิเรตนั่งเครื่องบินลำเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอลบินผ่านน่านฟ้าซาอุดีอาระเบีย ปรากฏการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นมีนัยสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มประเทศอาหรับกำลังใช้นโยบายที่เรียกว่าศัตรูของศัตรูคือมิตร (The enemy of my enemy is my friend) การที่อิสราเอลมีอิหร่านเป็นศัตรู ซาอุดิอาระเบียจึงมองว่าอิสราเอลเป็นเพื่อนกันได้ เพราะซาอุดิอาระเบียเป็นคู่ปรับกับอิหร่านมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 1979 หรือหลังการปฏิวัติอิหร่าน

มีคำถามมากมายที่ประเทศไทยต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เช่น ในเมื่อโลกอาหรับเปิดพื้นที่ให้กับอิสราเอลอย่างนี้แล้วต่อไปใครจะเป็นผู้ที่จะคอยปกป้องชาวปาเลสไตน์ และความช่วยเหลือจากโลกอาหรับยังคงเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ หากประเทศไทยประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ต้องคิดอย่างไร สถานะของซาอุดีอาระเบียในขณะนี้เป็นอย่างไรหลังจากเกิดกรณีการสังหารนักข่าว จามาล คาช็อกกี้ รวมถึงสมการของประเทศมหาอำนาจที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางขณะนี้เป็นอย่างไร หลังการที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือน 9 ประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ คือ จอร์แดน อิรัก อิยิปต์ บาห์เรน สหรัฐอาหรับอิมิเรต กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย โอมาน และคูเวต ซึ่งการกลับมายังภูมิภาคของ ไมค์ ปอมเปโอ พอจะสรุปได้ว่า 1) เพื่อกดดันอิหร่าน ซึ่งสหรัฐอเมริกาอ้างมาโดยตลอดว่าอิหร่านมีนโยบายที่ก้าวร้าว 2) เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้ายในภูมิภาค 3) ที่สำคัญที่สุดคือสร้างความเข้มแข็งและสร้างความเป็นผึกแผ่นในกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากที่ผ่านมาพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในตะวันออกกลางอย่างสมาชิกกลุ่ม GCC เริ่มแตกคอกันจากกรณีของกาตาร์ที่พยายามตีห่างออกจากอิทธิพลของผู้นำในภูมิภาคอย่างซาอุดิอาระเบีย สร้างความไม่พอใจให้กับซาอุดิอาระเบียและกลุ่มสมาชิกเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มิตรภาพในสมาชิกกลุ่ม GCC อ่อนแอลง นี่คือสาเหตุที่แท้จริงของการเดินทางมาเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ

จากความระส่ำระสายของสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ถึงแม้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ก็มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ภายในโลกมุสลิมเอง เพราะฉะนั้น การที่จะกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศต้องสร้างความสมดุลในความสัมพันธ์ หากดูสมการของความสัมพันธ์ในภูมิภาคในตอนนี้จะเห็นว่าประเทศซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และตุรกี เป็นตัวเล่นหลักในสมการนี้ แต่ประเทศไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดีไม่ครบทุกประเทศ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียยังไม่ปรากฏเต็มรูปแบบ เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องรีบดำเนินการต่อไปเพื่อสร้างความสมดุลของสมการนี้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนที่อยู่ในสมการการวางยุทธศาสตร์และการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศทั้งสิ้น เป็นประเด็นที่ประเทศไทยต้องสร้างความสมดุลในกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะนโยบายหลักที่ประเทศไทยต้องสร้างในภูมิภาคตะวันออกกลางและโลกมุสลิมคือ สานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ โดยต้องเป็นนโยบายที่จะทำอย่างไรในการสานความสัมพันธ์กับประเทศหนึ่ง แล้วไม่ให้เกิดผลกระทบกับความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องนำไปศึกษาเพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีประสิทธิภาพต่อไป

—————————————-

ดร. อารีฝีน ยามา
นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1629


Latest articles

Institution location (Muslim studies center)

Institute of Asian Studies Chulalongkorn University

7th Floor, Prajadhipok-Rambhai Barni Building, Phyathai Road, Bangkok 10330, THAILAND

02-218-7412

02-218-7412