บทความของศูนย์จีนศึกษา

ศูนย์จีนศึกษา

การศึกษาวิจัย และเผยแพร่ความรู้เรื่องจีน เริ่มที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกับกระแสการส่งเสริมเอเชียศึกษาทั่วโลก อันเป็นผลมาจากการที่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามเกาหลีและสงครามอินโดจีน ในปีพ.ศ.2510 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ก่อตั้งสถาบันเอเชียศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยทำการสอน วิจัย และเผยแพร่เรื่องจีนเป็นกิจกรรมสำคัญ ภายหลังไทย-จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันแล้ว และสถาบันเอเชียศึกษาได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2528 และกิจกรรมเรื่องจีนศึกษามีมากขึ้น ในปีพ.ศ.2538 ซึ่งเป็นวโรกาสที่ไทย-จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 20 ปี สถาบันเอเชียศึกษา จึงได้ก่อตั้งศูนย์จีนศึกษาขึ้น เพื่อการทำวิจัยในลักษณะที่เป็นสหสาขาวิชา คือ ครอบคลุมความรู้ในหลายด้านที่เกี่ยวกับจีน ได้แก่ การเมือง การปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรมและภาษา รวมทั้งความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับจีน เพื่อสร้างฐานข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องจีนศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นบริการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนในระดับต่างๆ และเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเรื่องจีนศึกษากับนักวิชาการเรื่องจีนศึกษาทั่วโลก

เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง: ปัญหาใหญ่ซึ่งยังรอการแก้ไขของจีน 1

เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง: ปัญหาใหญ่ซึ่งยังรอการแก้ไขของจีน 1โดย สิรีธร โกวิทวีรธรรม นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง: ปัญหาใหญ่ซึ่งยังรอการแก้ไขของจีน 1

สิรีธร โกวิทวีรธรรม
นักวิจัยประจำสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1515
 
เมื่อเดือนมิถุนายน 2015 มีผู้พบศพเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งให้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน 4 คน เป็นชายหนึ่งหญิงสาม  เสียชีวิตอยู่ในบ้านที่เขตฉีซิงกวาน (七星关区) เมืองปี้เจี๋ย (毕节市) มณฑลกุ้ยโจว โดยทั้ง 4 คนฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาฆ่าแมลง พี่ชายคนโตอายุ 13 ขวบ น้องสาวคนเล็กสุดเพิ่งอายุได้ 5 ขวบ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งก็รีบรุดไปที่เกิดเหตุทันที และได้พยายามช่วยชีวิตเด็กทั้งสี่ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ จากการสอบถามชาวบ้านหลายคนทำให้ทราบว่า แม่ของพวกเขาออกจากบ้านไปเมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนพ่อออกไปทำงานข้างนอกเมื่อมกราคม 2015 ปู่และย่าก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ส่วนตาและยายยังมีชีวิตอยู่แต่อายุมากแล้ว จึงไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กทั้ง 4 คนได้

จากคำบอกเล่าของปู่ (พี่ชายของปู่) เมื่อเดือนที่แล้ว เด็กทั้ง 4 คนหยุดเรียนหนังสือ เพราะไม่มีเงินที่จะใช้ในการดำรงชีวิต อาหารเพียงอย่างเดียวในบ้าน คือข้าวโพดที่บิดาของเด็กปลูกไว้เมื่อปีที่แล้ว โดยปกติแล้วเด็กทั้ง 4 คนจะเอาข้าวโพดมาบดเป็นแป้งข้าวโพด ยังไม่ทันใช้ตะแกรงร่อนให้สะอาดก็นำไปรับประทานแล้ว นั่นก็เพราะ “ยากจนเกินไป” ปู่ยังบอกอีกว่า ถึงแม้จะยากจน แต่เด็กๆ ไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเลย และถึงแม้บิดาของเขาจะทิ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อไว้ให้ แต่ก็ติดต่อไม่ได้ ระหว่างที่ตำรวจกำลังตรวจสอบสภาพแวดล้อมและปัจจัยอันเป็นเหตุให้ฆ่าตัวตาย ก็พยายามตามหาพ่อแม่ของเด็กไปด้วย ในที่สุดก็สามารถติดต่อพวกเขาได้ จากรายงานข่าวเผยว่า ตั้งแต่ปี 2012 พ่อและพี่ชายคนโตอยู่ในเกณฑ์ได้รับการประกันสังคมขั้นต่ำสุด (最低生活保障)2 โดยจะได้เงินประกันคนละ 531 หยวนต่อฤดูกาล ผู้สำรวจพบว่า ยังเหลือเงินประกันสังคมขั้นต่ำสุดอยู่อีก 3,568 หยวน และยังมีเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น ธัญญาหาร เนื้อตากแห้ง เป็นต้น

รายงานข่าว CCTV เผยว่า พี่ชายคนโตได้เขียนจดหมายลาตายไว้ 1 ฉบับ ใจความหลักก็คือ “ขอบคุณเจตนาดีของพวกคุณ ผมรู้ว่าพวกคุณดีต่อผม แต่ผมควรไปแล้ว” ในส่วนท้ายมีเนื้อหาทำนองว่า “จริงๆ ได้วางแผนเรื่องนี้มานานแล้ว วันนี้เป็นช่วงเวลาที่ควรไปเสียที”

เสียงจากสังคม

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่แสดงไว้ใน Wall Street Journal ระบุว่า จากการทดสอบมาตรฐานพบว่าเด็กในชนบทของจีนมีสิ่งบ่งชี้ว่า มีปัญหาเรื่องความเข้มแข็งของจิตใจสูงถึง 70% ตัวอย่างเช่น เด็กจำนวนมากรู้สึกกังวลและซึมเศร้า ศาสตราจารย์เซี่ยหมิง (夏明) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จาก City University of New York ได้วิเคราะห์ว่า นับวันปัญหาเด็กที่ถูกทอดทิ้ง (留守儿童) ในจีนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาการเลือกทางเดินชีวิตของพ่อแม่ของบางครอบครัวในชนบท แต่เป็นปัญหาด้านนโยบายการพัฒนาของทั้งประเทศ

“ปัจจุบันการพัฒนาของทั้งประเทศจีนก็คือ การสร้างสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานของการเสียสละในอนาคต  เด็กที่ถูกทอดทิ้ง  ทั้งการวางแผนครอบครัว การแบ่งแยกเมืองและชนบท และที่อยู่อาศัยในเมือง ล้วนเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงถึงกัน”

เดิมทีเงื่อนไขการศึกษาในชนบทของจีนก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ประกอบกับการที่พ่อแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดเวลา เด็กชนบทจำนวนมากจึงไม่สามารถเรียนจบได้ อัตราการเลิกเรียนกลางคันของเด็กที่ถูกทอดทิ้งสูงกว่าเด็กทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ศาสตราจารย์เซี่ยหมิงกล่าวว่า “การที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ทิ้งลูกไว้กับคนสูงอายุ เป็นโครงสร้างทางสังคมและนโยบายสาธารณะของจีนที่ก่อให้เกิดการไม่มีทางเลือก   ครอบครัวแตกแยก การแยกทางของพ่อแม่ การละเลยคนรุ่นหลัง ทำให้เด็กไม่ได้รับความรักและเอาใจใส่จากพ่อแม่ได้ทุกวัน ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตแบบในเมืองได้”

พ่อหรือแม่หรือทั้งคู่ออกไปทำงานต่างถิ่นทำให้ขาดการดูแลลูก เด็กบางคนต้องออกไปเร่ร่อนอยู่ตามท้องถนน  ปี 2012 มีเด็กชายเร่ร่อน 5 คนตายอย่างน่าเวทนาในถังขยะของเมืองปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจว ซึ่งทำให้ผู้คนเจ็บปวดมาก เมื่อไม่นานมานี้ CCTVรายงานว่า รัฐบาลเมืองกุ้ยหยางให้ความสนใจกับปัญหาเรื่องนี้ และได้เชิญเด็กที่ถูกทอดทิ้ง 50 คนมาฉลองปีใหม่ที่ปักกิ่ง แต่คนจำนวนมากก็รู้ว่าปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งไม่ใช่ปัญหาของครอบครัวหนึ่งหรือสองครอบครัวหรือเด็กไม่กี่คน ศาสตราจารย์เซี่ยหมิงกล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาไม่สามารถล้มเลิกระบบทะเบียนบ้านได้ แรงงานอพยพที่ทำงานในเมืองไม่เคยได้รับอิสระและการปลดปล่อย”

เด็กถูกทอดทิ้งกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงในชนบทของจีนปัจจุบัน และเป็นกลุ่มใหญ่ ยากลำบากในการช่วยเหลือดูแลมาก

ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งที่เมืองปี้เจี๋ยชักนำให้สังคมสนใจ

สิ่งที่น่าสนใจคือ หลายปีมานี้ สถานการณ์เกี่ยวกับเด็กถูกทอดทิ้งในเมืองปี้เจี๋ย มณฑลกุ้ยโจวถูกสื่อรายงานหลายครั้ง

ในปี 2012 เคยเกิดคดีเด็กเร่ร่อน 5 คนเสียชีวิตในถังขยะ อาหารการกินของเด็กทั้ง 5 คนโดยปกติคือ  ข้าวต้มและเกลือ

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2014 เกิดเหตุอาจารย์ข่มขืนกระทำชำเรานักเรียน สถานีตำรวจเสี่ยวจี๋ฉ่าง (小吉场) สำนักรักษาความปลอดภัยสาธารณะเขตฉีซิงกวาน เมืองปี้เจี๋ยได้รับแจ้งว่า หมู่บ้านหนานเฟิง (南丰村) เมืองเสี่ยวจี๋ฉ่างเกิดคดีข่มขืนกระทำชำเรา ผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดคือ ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนประถมฯ แห่งหนึ่งในปี้เจี๋ย และถูกจับกุม  มีนักเรียนหญิงที่เป็นผู้เสียหายอย่างน้อย 12 คน คนที่อายุน้อยที่สุดเพียง 8 ขวบ แยกเป็นประถมสอง ประถมสี่ และประถมหก นักเรียนหญิงที่ถูกละเมิดส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ผู้ปกครองไปทำงานต่างถิ่นตลอดปี

เวลาประมาณ 3 ทุ่มของวันที่ 11 พฤษภาคม 2015  เหวยฮุ่ยผิง (韦会平) ผู้รับผิดชอบโรงเรียนเด็กก่อนวัยเรียนในหมู่บ้านจงจ้าย (中寨村) เมืองเผียวจิ่ง (瓢井镇) อำเภอต้าฟาง (大方县) ของปี้เจี๋ย ถูกคุมตัวเนื่องจากต้องสงสัยว่าลวนลามเด็กเล็ก ปัจจุบันแน่ชัดว่ามีเด็กหญิงอย่างน้อย 7 คนที่แจ้งความว่าถูกเหวยฮุ่ยผิงลวนลาม  โดยเด็กเหล่านี้มีอายุ 6 – 7 ขวบ และส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

หมู่บ้านของเด็กที่ถูกทอดทิ้ง

หมู่บ้านเหลาต้ง ซึ่งแปลว่า แรงงาน (劳动村) เป็นหนึ่งในหมู่บ้านชนเผ่าแม้วจำนวนมาก อยู่ในเขตเมืองปาจ้าย (八寨镇) ของปี้เจี๋ย เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประชากร 100 กว่าครอบครัว คนหนุ่มสาวเกือบทั้งหมดไปเป็นแรงงานต่างถิ่น เหลือเพียงเด็กๆ กลุ่มหนึ่งและคนชราที่ถูกทอดทิ้งเนื่องจากอยู่ในหมู่บ้าน ในแต่ละบ้านยังมีพี่น้องชายหญิงอีกหลายคน เด็กหลายคนช่วงที่ไม่ได้เข้าเรียนก็จะอยู่บ้านดูแลน้อง เด็ก 66 คนเรียนที่โรงเรียนประถมหนีซู่ (泥树小学) ซึ่งเป็นโรงเรียนเพียงแห่งเดียวในหมู่บ้าน ส่วนเด็กที่เหลือทุกวันจะต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตรไปเรียนหนังสือในเมือง

โรงเรียนประถมหนีซู่เป็นบ้านดินสองด้าน เนื่องจากอาคารชำรุดเพราะความเก่า โรงเรียนไม่กล้าโยงสายไฟเข้ามา ห้องเรียนจึงไม่มีไฟฟ้า ทำได้เพียงอาศัยแสงสว่างจากหน้าต่างรับลมทั้ง 4 บาน หน้าหนาวในเขตภูเขาของกุ้ยโจวมีหมอกหนา แสงแดดน้อย พวกเด็กๆ จึงเรียนหนังสือด้วยความยากลำบาก

จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศจีน ทำให้นับวันชาวนาที่ยังหนุ่มยังสาว เข้าเมืองไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ามากขึ้นเรื่อยๆ  จึงทำให้เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจำนวนมากถูกทอดทิ้งอยู่ในชนบทกลายเป็นกลุ่มคนพิเศษกลุ่มหนึ่งขึ้นมา

เด็กวัยรุ่นที่ถูกทอดทิ้งกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการเติบโตและเรียนรู้ พวกเขาไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือและนำทางด้านความคิดความเข้าใจและค่านิยมจากพ่อแม่ ขาดความสนใจและเอาใจใส่ด้านความรู้สึกจากพ่อแม่ในระหว่างเติบโต ง่ายต่อการเกิดความผิดปกติมากในการรับรู้เข้าใจ และค่านิยมในเรื่องของการพัฒนาด้านจิตใจ การเบี่ยงเบนและอุปนิสัย ถึงขนาดทำให้บางคนเดินทางผิดได้  ดังนั้น เด็กที่ถูกทอดทิ้งต้องการการเอาใจใส่จากสังคมมาก และยิ่งต้องการได้รับความรักจากคนในครอบครัว ตลอดจนความเอาใจใส่จากพ่อแม่ด้วย

การที่แม่ออกไปทำงานข้างนอกส่งผลกระทบต่อเด็กที่ถูกทอดทิ้งมาก

“ควรออกมาดูปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งในชนบทบ้าง” ศาสตราจารย์ต้วนเฉิงหรง (段成荣) รองคณบดีวิทยาลัยสังคมและประชากร มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน (中国人民大学社会与人口学院) ระบุว่า “เมื่อมองจากสถานการณ์โดยรวมของทั้งประเทศ พวกเรากำลังพยายามก้าวให้ทันโลกและสร้างความเป็นเมืองให้สำเร็จ แต่ว่าความเป็นเมืองรูปแบบใหม่ ที่ว่า “ใหม่” นั้นจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหนกัน ต้องใคร่ครวญถึงความต้องการด้านอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของครอบครัวของแรงงานอพยพ ทำให้การเคลื่อนย้ายประชากรมีความหมายที่สมบูรณ์ให้ได้” ต้วนเฉิงหรง กล่าว

ต้วนเฉิงหรงยังเปิดเผยอีกว่า การดูแลเอาใจใส่เด็กที่ถูกทอดทิ้งต้องการความเข้มแข็งของครอบครัว “พวกเราพูดมาตลอดว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้งมี 61 ล้านคน แต่พวกเขาไม่เหมือนกัน ในนั้นมีความแตกต่างมาก ระหว่างเด็กที่แม่ออกไปทำงานนอกบ้านกับเด็กที่ถูกทอดทิ้งประเภทอื่นๆ  มีความแตกต่างที่มากเป็นพิเศษ   พวกเราในตอนนั้นวิจัยปรากฏการณ์นี้เป็นหลักอย่างลึกซึ้ง พบว่าอาจเป็นไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความคิดผู้ชายทำงานนอกบ้าน ผู้หญิงดูแลบ้าน (男主外、女主内) ที่เป็นแนวทางชีวิตครอบครัวของชาวจีนมาหลายพันปี”

สำหรับต้วนเฉิงหรงแล้ว การดูแลและเลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่มาตั้งแต่ลูกเกิด “ปัจจุบันตอนที่พวกเรากำลังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนจากสังคม กลับทำให้หน้าที่ของครอบครัวอ่อนแอลง เรื่องนี้ยังต้องการการเผยแพร่และการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องให้เข้มข้นมากขึ้น”

นายหลี่หมิงซุ่น (李明舜) เลขาธิการควบรองประธานงานสัมมนากฎหมายการสมรสและครอบครัวของสมาคมกฎหมายจีน และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสตรีจีน (中华女子学院) เห็นว่า การแก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง เกี่ยวข้องถึงการประสานกันของผลประโยชน์ทางสังคมรูปแบบต่างๆ เช่น การพัฒนาสังคม การปรับปรุงชีวิตครอบครัวให้ดีขึ้น การพัฒนาตัวพ่อแม่ ผลประโยชน์ของเด็กถูกทอดทิ้ง เป็นต้น แต่ควรทำหลักการสำหรับเด็กก่อนเป็นลำดับแรก “การแก้ปัญหาการคุ้มครองเด็ก ยังเกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่และสิทธิของพ่อแม่ด้วย จุดประสงค์ของการสร้างระบบคุ้มครองคือ เพื่อคุ้มครองและทำให้ผลประโยชน์ของผู้คุ้มครองบรรลุผล ดังนั้น ผู้คุ้มครองยิ่งต้องมีความรับผิดชอบและภาระหน้าที่มากขึ้น อำนาจของผู้พิทักษ์จะสามารถทำให้กลายเป็นจริงได้ เมื่อผู้พิทักษ์ปฏิบัติตามหน้าที่เท่านั้น”

หลี่หมิงซุ่นเห็นว่า การบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของครอบครัวในอนาคต ควรมุ่งความสำคัญไว้ที่ประเทศและสังคมว่า จะให้การสนับสนุน การบริการ การชี้นำเรื่องการศึกษาของครอบครัวอย่างไร จึงจะทำให้การศึกษาของครอบครัวมีภาวะแวดล้อมทางสังคมและการสนับสนุนจากสังคมที่ดียิ่งขึ้น

จากข้อมูลที่สภาสตรีแห่งชาติจีน (中国全国妇联) สำรวจเมื่อปี 2014 แสดงให้เห็นว่า มีเด็กชนบทถูกทอดทิ้งทั้งประเทศจีนจำนวนกว่า 61 ล้านคน นั่นหมายถึงเด็กทุกๆ 5 คน  จะมี 1 คนเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง โดยทั่วไปแล้วพวกเขาล้วนเป็นลูกชายลูกสาวของแรงงานอพยพ ที่เติบโตขึ้นมาโดยมีผู้ปกครองเพียง 1 คน หรือไม่ก็ไม่มีผู้ปกครองอยู่เคียงข้าง

การสำรวจที่เกี่ยวข้องพบว่า เด็กที่ถูกทอดทิ้งและถูกเลี้ยงดูโดยปู่ย่า หรือตายาย ใกล้จะมีปริมาณถึง 1 ใน 3 แล้ว โดย  11% ถูกเลี้ยงดูโดยชาวบ้านคนอื่นๆ หรือญาติ แต่มีเด็กอีกอย่างน้อย 2 ล้านคนที่ไม่มีใครเลี้ยงดู เด็กเหล่านี้มักจะถูกทารุณหรือถูกลักพาไปขาย ฉะนั้น จึงพบสถานการณ์ฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง  ตัวอย่างจากการเปิดเผยของสื่อ เมื่อเดือนมกราคม 2015 เด็กชาย 9 ขวบที่ถูกทอดทิ้งคนหนึ่งแขวนคอตาย  หลังจากได้ข่าวว่าแม่ของเขาจะไม่กลับมาบ้านในช่วงปีใหม่

มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ซ่างไห่ (上海师范大学) ทำการสำรวจครั้งหนึ่งพบว่า พ่อแม่ของเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมากต้องออกไปทำงานต่างถิ่น  เพราะครอบครัวมีขนาดใหญ่เกินไปประกอบกับฐานะทางการเงินไม่ดี  95% ของเด็กถูกทอดทิ้งที่ถูกสัมภาษณ์มาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ  56% ของครอบครัวเด็กถูกทอดทิ้งมีรายรับต่อเดือนไม่ถึง 1,000 หยวน ส่วนใหญ่เด็กจะติดต่อกับพ่อแม่ทางโทรศัพท์  แต่มีเด็กถึง 38% ที่ได้คุยกับพ่อแม่ทางโทรศัพท์ไม่ถึง 1 ครั้งต่อเดือน

จากการสำรวจที่เกี่ยวข้องยังเปิดเผยอีกว่า สาเหตุที่พ่อแม่ที่เป็นแรงงานอพยพทิ้งลูกให้อยู่บ้าน  เพราะค่าใช้จ่ายการเลี้ยงเด็กในเมืองสูงมาก และปัญหาเรื่องระบบทะเบียนบ้านของจีนมักทำให้แรงงานอพยพ ไม่มีทางที่จะได้รับสวัสดิการและทรัพยากรทางการศึกษาเต็มรูปแบบจากที่อยู่ใหม่ของพวกเขา

นายหูเจีย (胡佳) ผู้พิทักษ์สิทธิซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางสังคมจีนได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขาคิดว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในจีน เริ่มมาตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตงที่ใช้โครงสร้างการแยกเมืองและชนบทออกจากกัน (城乡二元)3 หลังจากเติ้งเสี่ยวผิงเยือนภาคใต้ในปี 1992 เศรษฐกิจของจีนเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบวางแผนเป็นเศรษฐกิจการตลาด ซึ่งทำให้เด็กถูกทอดทิ้งกลายเป็นกลุ่มพิเศษกลุ่มหนึ่ง  หูเจียกล่าวว่า แรงงานอพยพในจีนไม่มีศักดิ์ศรี ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึงลูกของพวกเขาเลย ที่แย่กว่านั้นคือ รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้ภาคประชาสังคมเติบโต และได้ดำเนินการก่อกวนและโจมตีกลุ่ม NGO ที่เรียกร้องเพื่อกลุ่มคนที่อ่อนแอ เช่น สตรีและเด็ก

เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุของเด็กถูกทอดทิ้งของจีนที่มีอยู่จำนวนมาก นางจางจิง (张菁) ผู้รับผิดชอบสิทธิสตรีจีน จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ กล่าวว่า แรงงานอพยพจำเป็นต้องออกไปทำงานข้างนอกเพื่อเลี้ยงครอบครัว นั่นก็เพราะบริษัทและนายทุนลดต้นทุนเพื่อสร้างกำไร บริษัทล้วนตั้งอยู่ในเมือง แต่สิ่งที่แรงงานอพยพได้ตอบแทนมาก็คือ การที่ภรรยาหนีจากไป บ้านแตกสาแหรกขาด ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้น บริษัทหลายแห่งก็จะสามารถตั้งขึ้นในเมืองเล็กๆ ได้ และจำนวนเด็กถูกทอดทิ้งก็จะลดน้อยลง

จางจิงกล่าวว่า ระบบทะเบียนบ้านของจีนและความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท ก็มีส่วนทำให้เกิดการดูถูกอย่างรุนแรงต่อแรงงานอพยพและลูกๆ ของพวกเขา และยังสร้างปัญหาอีกมากมาย เช่น ความยากลำบากในการเข้าเรียน นางกล่าวอีกว่า ถ้าระบบและนโยบายของจีนยังไม่เปลี่ยนแปลง โศกนาฏกรรมแบบนี้ก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไป ลูกๆ ของแรงงานอพยพก็จะไม่มีทางเงยหน้าอ้าปากได้

หูเจียยังเผยอีกว่า ทางออกของการแก้ต้นตอของปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งคือ ต้องมีการปฏิวัติระบบสังคม พัฒนาภาคประชาสังคม และกำจัดระบบพรรคเดียว ลบภาพเก่าทางระบบสังคมทิ้งไป

จาก สมุดปกขาวสภาพจิตใจของเด็กถูกทอดทิ้งในจีน ปี 2015 เผยว่า มีเด็กที่ถูกทอดทิ้ง 15% ไม่ได้พบพ่อแม่สักครั้งในหนึ่งปี เด็ก 4.3% ไม่ได้ติดต่อกับพ่อแม่เลยตลอดหนึ่งปี จากการสำรวจพบว่า ถ้าแม่ของเด็กอยู่เคียงข้างจะไม่ค่อยเกิดปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาที่หนักที่สุดคือทั้งพ่อและแม่ต่างก็ไม่อยู่ รวมถึงการที่เด็กไม่มีคนใกล้ชิดคอยดูแล  เด็กเหล่านี้ขาดการดูแลในชีวิตประจำวัน เช่น การตื่นนอน การอาบน้ำ การซักผ้า การตัดผม การกินข้าว สุขอนามัยภายในห้อง เป็นต้น  ไม่มีคนคอยช่วยเวลาพบกับความยากลำบาก ขาดการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพ ก็ยากที่จะมีความรู้สึกถูกผิดที่ชัดเจนเมื่อถึงช่วงเวลาสำคัญได้

ปัญหาของเด็กถูกทอดทิ้งมีอยู่มาก ปัจจัยที่ส่งผลกระทบใหญ่ที่สุดคือ โครงสร้างครอบครัวของพวกเขาไม่สมบูรณ์ ความสามารถในการคุ้มครองของผู้คุ้มครองไม่เพียงพอ ยากที่จะปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองได้ เนื่องจากไม่ได้มีชีวิตครอบครัวแบบปกติ จึงไม่สามารถแบกรับภาระด้านศึกษาของครอบครัวได้

รัฐบาลต้องจัดการภาพรวมของนโยบายเศรษฐกิจและประกันสังคมทั้งสองด้าน การลดช่องว่างจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ก็อาจจะลดการออกไปทำงานต่างถิ่นของพ่อแม่ได้

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลทุกระดับของจีนตั้งแต่ศตวรรษนี้เป็นต้นมา ได้ออกชุดนโยบายด้านงานสวัสดิการของเด็กให้มีความเป็นธรรมอย่างเป็นสากล แต่จากมุมมองของการปฏิบัติจริง นโยบายจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ยากจน จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเวลา 30 กว่าปีมานี้ ทำให้แรงงานจำนวนมากในชนบทเข้าไปกระจุกตัวอยู่ในเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเปิดเผยว่า รัฐบาลต้องร่วมมือกับโครงสร้างทางสังคม ให้ความรักเอาใจใส่ในวัยเด็กกับเด็กถูกทอดทิ้ง ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการปะทุของปัญหาสังคมได้

ห้องของเด็ก 4 คนที่ฆ่าตัวตายด้วยการดื่มยาฆ่าแมลงในเมืองปี้เจี๋ย 
การอ้างอิง

หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า, เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในกุ้ยโจว 4 คนคาดร่วมกันดื่มยาฆ่าแมลงเสียชีวิต(贵州4名留守儿童疑集体服农药身亡). (12 มิถุนายน 2558): A7.

Sina News, หลี่เค่อเฉียงสั่งการคดีเด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังเสียชีวิตในปี้เจี๋ย (李克强批示毕节留守儿童死亡事件). หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า (13 มิถุนายน 2558).

Radio Free Asia. เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในกุ้ยโจว 4 คนร่วมกันฆ่าตัวตาย (贵州四名留守儿童集体自杀). [ออนไลน์]. 19 มิถุนายน 2558. แหล่งที่มา:http://www.rfa.org/mandarin/zhuanlan/fuyouluntan/women-06192015101403.html

สำนักข่าวเหรินหมิน (人民网), เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังต้องการครอบครัวที่สัมผัสได้ (留守儿童需要可感触到的家). [ออนไลน์]. 30 ธันวาคม 2558. แหล่งที่มา: http://edu.people.com.cn/n1/2015/1230/c1006-27993501.html

สำนักข่าวซินหัว (新华网), จีนให้เด็กถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังมีที่สำหรับวัยเด็ก (中国让留守儿童有处安放童年). [ออนไลน์]. 29 กรกฎาคม 2558. แหล่งที่มา: http://news.xinhuanet.com/politics/2015-07/29/c_1116080382.htm

—————————————————–

ฟุตโน้ต

1 บทความนี้เคยตีพิมพ์ใน “เรื่องเด่นประจำฉบับ” ของวารสารข่าวจีนศึกษา ปีที่ 16 ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2558
2 หมายถึง การที่รัฐบาลจีนให้เงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่รายได้เฉลี่ยน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำสุดในการดำรงชีวิตตามประกาศของรัฐบาลท้องถิ่น โดยใช้ระบบประกันสังคมประกันสิ่งที่ครอบครัวนั้นๆ ต้องการในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
3 โครงสร้างการแยกเมืองและชนบทออกจากกัน หลักใหญ่คือการใช้ระบบทะเบียนราษฎร์ในการควบคุมการเคลื่อนย้ายประชากรจากชนบทสู่เมือง ซึ่งสร้างความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบทอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคร้ายแรงประการหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีนในปัจจุบัน

Keywords : ด็กในชนบทของจีน, ครอบครัวชาวจีน, นโยบายสาธารณะของจีน, โครงสร้างทางสังคมจีน, แรงงานอพยพจีน,สิรีธร โกวิทวีรธรรม


บทความล่าสุด

ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา
ชุมนุมฮ่องกงกับภาษาปริศนา

โดย ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ สถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชนคนฮ่องกงนั้นเป็นเรื่องที่น่าจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องด้วยการชุมนุมอันยืดเยื้อและข่าวลือต่างๆ ที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การชุมนุมนี้สร้างผลกระทบในวงกว้าง สถานการณ์การชุมนุมนี้มีสาเหตุมาจากการต่อต้านร่างกฏหมายส่งตัวผ

ผศ. ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธ์ุ
2563
กระแสเอเชีย
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”
วิเคราะห์เศรษฐกิจ-สังคมจีน “ เทคโนโลยีในยุค 5.0 กับวิถีชีวิตของคนจีนในปัจจุบัน ”

แปลและเรียบเรียงโดย กรองจันทน์  จันทรพาหา (ที่มาภาพ : https://ss0.bdstatic.com/70cFuHSh_Q1YnxGkpoWK1HF6hhy/it/u=2739498971,358910417&fm=26&gp=0.jpg ) ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ

ดร.กรองจันทน์ จันทรพาหา
2563
กระแสเอเชีย

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์จีนศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330