โดย สุดปรารถนา ดวงแก้ว นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานและนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น
แรงงานเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการผลิต การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกของญี่ปุ่น การเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นนำมาใช้เพื่อบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว
1. สถานการณ์ขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น
สาเหตุหนึ่งของปัญหาขาดแคลนแรงงานคือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร กล่าวคือประชากรวัยสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานและวัยเด็กของญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง จากรายงานของกรมสถิติญี่ปุ่น เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2017 พบว่า จำนวนประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปมี 35,152,000 คน (27.7%) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ในขณะที่ประชากรช่วงอายุ 15-64 ปีมี 75,962,000 คน (60.0%) และประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวน 15,592,000 คน (12.3%) ซึ่งลดจำนวนลงจากปีที่แล้วลงไปอีก[1]
ปัจจุบันญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน 586,400 คน และภายใน 5 ปีข้างหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ตลาดแรงงานจะขาดแรงงานถึง 1,455,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขางานบริบาล อุตสาหกรรมด้านร้านอาหาร และอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งปัจจุบันขาดแคลนแรงงานถึง 330,000 คน และภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 800,000 คน[2] นอกจากนี้ บางสาขางานขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือเนื่องจากแรงงานญี่ปุ่นไม่ต้องการทำงานที่หนัก สกปรก และเสี่ยงอันตราย การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ย่อมส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของญี่ปุ่น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวน 3,809,000 บริษัท หรือ 99.7% ของจำนวนบริษัททั้งหมดของญี่ปุ่น[3]
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายสนับสนุนและกระตุ้นเพื่อให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันผู้หญิงวัยทำงานช่วงอายุ 15-64 ปีมีสัดส่วนการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 70% แล้ว และขยายเวลาการทำงานหลังเกษียณให้กับผู้สูงอายุที่ยังประสงค์ทำงานต่อ แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2025 ประชากรยุคเบบี้บูม (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1947-1949) จะมีอายุ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดการณ์ได้ว่าจำนวนแรงงานจะลดลง ยิ่งกว่านั้นในอนาคตคนสูงอายุเหล่านี้มีแนวโน้มต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสาขางานการบริบาลและรักษาพยาบาล
2. นโยบายการเปิดรับแรงงานต่างชาติ
การดำเนินนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้จำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยในปี 1978 มี 22,550 คน ปี 1988 มี 81,407 คน[4] และปี 2018 มีจำนวน 1,460,463 คน[5] ดังนั้นภายในระยะเวลา 40 ปีญี่ปุ่นจะมีแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 65 เท่า ในการอนุมัติกฎหมายและปรับแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมคนเข้าเมืองและแรงงาน เอื้ออำนวยให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถรับแรงงานต่างชาติ และเปิดให้แรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานที่ญี่ปุ่นได้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ ในปี 1981 ญี่ปุ่นตั้งระบบฝึกงานให้แรงงานต่างชาติจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้เรียนรู้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น ในปี 1990 ญี่ปุ่นแก้ไขกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมรับแรงงานต่างชาติที่มีบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่น (日系人) ในปี 1993 ญี่ปุ่นนำระบบฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค (技能実習制度) โดยต้องระบุในสัญญาจ้างงานของบริษัทที่รับแรงงานประเภทนี้ ในปี 2010 ญี่ปุ่นอนุมัติการออกวีซ่าฝึกปฏิบัติงานด้านเทคนิค (技能実習) ในปี 2015 ญี่ปุ่นอนุมัติการออกวีซ่าแก่ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง ในปี 2017 ญี่ปุ่นอนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะระดับสูงสามารถยื่นขอวีซ่าพำนักถาวรหลังจากที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมาแล้ว 1 ปี[6]
นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติดังกล่าวข้างต้นนั้น แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นเลือกรับเฉพาะแรงงานผู้เชี่ยวชาญระดับสูง เช่น แพทย์ ศาสตราจารย์ ผู้บริหาร นักกฎหมาย วิศวกร ผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมที่สามารถทำงานได้ เช่น คู่สมรสหรือบุตรของชาวญี่ปุ่น ผู้พำนักถาวร และมีโปรแกรมพิเศษรับแรงงานไร้ฝีมือเฉพาะผู้ที่มีบรรพบุรุษชาวญี่ปุ่น (日系人) เช่น แรงงานจากบราซิล เปรู อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นไม่มีนโยบายเปิดรับแรงงานไร้ฝีมืออย่างเป็นทางการ
บางบริษัทจึงแก้ไขสถานการณ์โดยการใช้แรงงานที่มีสถานภาพพำนักแต่ไม่สามารถทำงานได้ เช่น นักศึกษาต่างชาติและผู้ฝึกงานต่างชาติ จนบางบริษัทเกิดปัญหาบังคับผู้ฝึกงานทำงานเกินเวลา และกดค่าแรง[7] ซึ่งภาพชัดเจนมากขึ้นว่าภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยังต้องการแรงงานไร้ฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก
นโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติที่ผ่านมานั้นยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหา ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรีบดำเนินการปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ในปลายเดือนกันยายน ปี 2016 รัฐบาลญี่ปุ่นมีการผลักดันมติการปฏิรูปการทำงาน (働き方改革実現会議) อย่างจริงจังมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2018 เริ่มประชุมเรื่องปัญหาเปิดรับแรงงานต่างชาติ[8] ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2018 มีการแก้ไขกฎหมายควบคุมตรวจคนเข้า-ออกเมืองเพื่อให้มีการจ้างแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นมากขึ้น ต่อมารัฐสภาลงมติเห็นชอบกับนโยบายเพิ่มแรงงานต่างชาติลงวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 2018 กำหนดนโยบายและรายละเอียดโดยรวมของวีซ่าใหม่ คือ “เทคนิคพิเศษ”(特定技能) โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 ภายใต้กฎหมายควบคุมตรวจคนเข้า-ออกเมือง (改正出入国管理法)[9]
การอนุมัติวีซ่าเทคนิคพิเศษ 1 และ 2(特定技能1・2)เป็นนโยบายที่อนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นสามารถรับแรงงานไร้ฝีมือได้อย่างเป็นทางการ โดยมีเงื่อนไขคือต้องเป็นแรงงานจากประเทศจีน เวียดนาม ไทย กัมพูชา พม่า อินโดนีเซีย เนปาล ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย รวม 9 ประเทศ จำนวนที่รับสูงสุดไม่เกิน 345,150 คน[10] ใน 14 สาขางาน ได้แก่ (1) การบริบาล (2) ทำความสะอาดอาคาร (3) อุตสาหกรรมหลอมเหลวโลหะ (4) อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรในโรงงาน (5) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ (6) อุตสาหกรรมก่อสร้าง (7) อุตสาหกรรมต่อเรือ (8) อุตสาหกรรมบำรุงรักษารถยนต์ (9) อุตสาหกรรมภาคพื้นสนามบิน (10) อุตสาหกรรมด้านที่พัก (11) อุตสาหกรรมการเกษตร (12) อุตสาหกรรมประมง (13) อุตสาหกรรมการผลิตวัตถุดิบ อาหารและเครื่องดื่ม และ (14) อุตสาหกรรมด้านร้านอาหาร ประเภทของวีซ่าเทคนิคพิเศษแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1) ผู้ที่ถือวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ 1 (特定技能1号)สามารถทำงานและพำนักในญี่ปุ่นได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปีแบบต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถนำครอบครัวเข้ามาพำนักด้วยได้ หากต้องการยื่นขอวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ 2 ต้องผ่านการทดสอบด้านทักษะงานและความรู้ทางภาษาญี่ปุ่น
2) ผู้ที่ถือวีซ่าเทคนิคพิเศษแบบที่ 2 (特定技能2号)เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีทักษะระดับสูง ได้แก่ ผู้ที่เป็นหัวหน้าดูแลหน้างาน สามารถทำงานและพำนักโดยขอขยายเวลาได้ทุก ๆ 1-3 ปี โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งรวมถึงอาศัยถาวรได้ สามารถนำครอบครัวมาพำนักอาศัยด้วยได้[11]
สรุป
โดยภาพรวมการออกนโยบายเปิดรับแรงงานต่างชาติของญี่ปุ่น ในปี 2018 นี้ เป็นการเปิดรับแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมืออย่างเป็นทางการ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่อไป ในขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็นำไปสู่การเพิ่มบทบาทของภาครัฐที่เข้ามาควบคุมและดำเนินการด้านแรงงานมากขึ้น สำหรับแรงงานไทยแล้วนี่เป็นโอกาสการทำงานต่างประเทศโดยไม่ต้องหางานผ่านระบบนายหน้าเอกชน การได้รับความคุ้มครองด้านสภาพแวดล้อมทำงาน สวัสดิการและค่าแรงตามเกณฑ์มาตรฐานเท่าเทียมกับแรงงานญี่ปุ่น รวมถึงการได้รับการสนับสนุนด้านภาษาและการดำรงชีวิตในญี่ปุ่น
สุดปรารถนา ดวงแก้ว
นักวิจัยศูนย์ญี่ปุ่น-อาเซียนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1627
ที่มาของภาพ (prachachat.net)