บทความของศูนย์แม่โขงศึกษา

ศูนย์แม่โขงศึกษา

แม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป โดยไหลผ่านดินแดนของประเทศต่างๆ  ถึง 6 ประเทศ ได้แก่ จีน (มณฑลยูนนาน) พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงจึงเป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางอารยธรรม ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ ที่หล่อหลอมขึ้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของภูมิภาคนี้ วิถีชีวิตของประชาชนทั้ง 6ประเทศต่างผูกพันกับแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาสูงนี้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวโยงกับแม่น้ำสายนี้

          สถาบันเอเชียศึกษามีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาเป็นระยะเวลานาน ในเบื้องต้นนั้นได้มีการจัดตั้งโครงการเครือข่ายแม่น้ำโขง (Mekong Development Research Network) ขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นศูนย์บริหารและประสานงานกับหน่วยงานและประเทศที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำโขง โดยได้ให้การสนับสนุนการทำวิจัยระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการทรัพยากรลุ่มแม่น้ำโขง และจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในการใช้ทรัพยากรของแม่น้ำสายนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผลงานอาทิ Maps of International Borders Between Mainland Southeast Asian Countries and Background Information concerning population Movements at these Borders (1998)           การที่แม่น้ำโขงตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญได้กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับดินแดนบริเวณดังกล่าว ทั้งจากองค์กรของรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเย็นเป็นต้นมาแม่น้ำโขงได้ทวีความสำคัญอย่างเป็นพลวัต อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศ ดังนั้น สถาบันเอเชียศึกษาจึงเห็นความจำเป็นในการศึกษาทำความเข้าใจแม่น้ำโขงในมิติต่างๆ และได้ขยายโครงสร้างของงานจากโครงการเครือข่ายแม่น้ำโขงมาเป็นศูนย์แม่โขงศึกษาเพื่อสานต่อและพัฒนาความรู้ในปี พ.ศ.2544 โดยเน้นถึงการศึกษาพลวัตของแม่น้ำโขงอันสัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังได้ขยายความสนใจไปสู่ประเด็นฐานรากของแม่น้ำโขง อันได้แก่ ประวัติศาสตร์ ผู้คน และวัฒนธรรม โดยมองแม่น้ำโขงในฐานะที่เป็นสายน้ำที่มีชีวิต

ขอบเขตการดำเนิน

ศูนย์แม่โขงศึกษา เป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งศึกษาวิจัย ค้นคว้า และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  อันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีนตอนใต้ โดยเน้นวิธี การศึกษาที่เรียกว่า อาณาบริเวณศึกษา ที่มุ่งอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากมุ่งมองภายใน ของประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงมุมมองภายในของประเทศ ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรอบด้านและเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมองการเปลี่ยนแปลงในเชิงของการเป็นอนุภูมิภาค (sub-region) เนื่องจากประเทศในอนุภูมิภาคฯ ล้วนมีความใกล้ชิดทางด้านภูมิศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งยังมีประสบการณ์ร่วมในพัฒนาการของประเทศที่คล้ายคลึงกัน ตลอดจนการเชื่อมโยง ระหว่างกัน (Connectivity) ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งทางกายภาพ ความเชื่อมโยงของ องค์กร ตลอดจนการเชื่อมโยงของประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่ สนับสนุนให้เกิดการยกระดับของการบูรณาการภายในอนุภูมิภาคฯ และก่อให้เกิดการ ประสานประโยชน์ร่วมกันที่มากขึ้น  องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเหล่านี้ ศูนย์ฯ ได้ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในทุกภาคส่วนของสังคม ผ่านการบริการด้านวิชาการ ทั้งการจัดสัมมนาทางวิชาการ การให้คำปรึกษาทั้งกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วน ร่วมในการกำหนดนโยบายที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้สามารถก่อให้เกิด ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

1) เพื่อศึกษาค้นคว้าทางวิชาการใน เรื่องที่เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลมุ่แม่น้ำ โขง ซึ่งกำลังพัฒนาเข้าสู่การเป็น ประชาคมอาเซียน

2) เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าอ้างอิง ให้ คำปรึกษา และเสริมสร้างความ เข้าใจ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในเรื่องที่ เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3) เพื่อพัฒนาให้เกิดเครือข่ายความ ร่วมมือทางวิชาการ ทั้งใน ระดับชาติ และระดับนาชาติ

การให้บริการด้านวิชาการ

1) เป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐ และเอกชนในการศึกษาหรือทำ โครงการเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน

2) จัดอบรมองค์ความรู้เกี่ยวกับ ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3) บรรยายในหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน และการจัดการเรียน การสอน ตลอดจนการตีพิมพ์ บทความทางวิชาการ และเผยแพร่ ผ่านสื่อแขนงต่าง ๆ

4) การจัดสัมมนาวิชาการเผยแพร่ ประจำปีของศูนย์

การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018

โดย วินิสสา อุชชิน

การเลือกตั้งในกัมพูชาปี 2018
วินิสสา อุชชิน
นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วเมื่อปี 2013 พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodia People’s Party: CPP) ซึ่งสมเด็จฮุน เซน เป็นประธานพรรค ชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่งในรัฐสภา 68 ที่นั่ง ลดลงถึง 22 ที่นั่งจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2008 ในขณะที่พรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party: CNRP) ภายใต้การนำของนายสม รังสี ได้ที่นั่งในรัฐสภา 55 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นถึง 26 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งในปี 2008 สะท้อนให้เห็นว่าพรรคประชาชนกัมพูชาและตัวของท่านสมเด็จฮุน เซนนั้นได้เสื่อมความนิยมลงอย่างมาก

การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาครั้งใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2018 สมเด็จฮุน เซน ได้มีการวางกลยุทธ์เพื่อให้พรรคประชาชนกัมพูชาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในภาวะที่คะแนนนิยมถดถอยลง โดยกลยุทธ์ที่สมเด็จฮุน เซน นำมาใช้ มีทั้งการใช้พระเดช (hard power) และพระคุณ (soft power)

การใช้พระเดช (hard power) นั้น หลังจากเลือกตั้งในปี 2013 สมเด็จฮุน เซน ได้ใช้กฎหมายและใช้กำลังเข้าจับกุมฝ่ายตรงข้าม โดยในต้นปี 2014 ได้มีการใช้กำลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมประท้วงที่ต้องการให้สมเด็จฮุน เซน ลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดการเลือกตั้งใหม่ ผลการเข้าสลายการชุมนุมของตำรวจส่งผลให้มีผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 26 คน และถูกจับกุมตัวอีก 11 คน 1

ปี 2015 ศาลกรุงพนมเปญ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม และนำตัวสม รังสี รับโทษจำคุก 2 ปี จากความผิดฐานหมิ่นประมาท กล่าวหาว่า นายฮอร์ นัมฮอง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเป็นอดีตสมาชิกเขมรแดง ส่งผลให้นายสม รังสี หัวหน้าพรรค CNRP ในขณะนั้นต้องลี้ภัยนอกประเทศ ในปี 2015 รัฐสภาของกัมพูชาได้ผ่านกฎหมาย LANGO: Law on Association and Non-Government Organization กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้สมาคม องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ เอ็นจีโอ ต้องจดทะเบียนและต้องส่งรายงานการเงินให้กับรัฐบาล ส่งผลให้เอ็นจีโอที่ไม่ได้ลงทะเบียนหรือไม่ผ่านการตรวจสอบสถานะจากรัฐบาลต้องปิดตัวลง

ปี 2017 เป็นปีที่มีการเคลื่อนไหวใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชา มีมติให้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายให้สิทธิรัฐบาลที่จะขอให้ศาลออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการปลุกปั่น ส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก หรือดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยนักการเมืองที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดตามกรณีดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้ง และอาจทำให้พรรคการเมืองต้นสังกัดถูกยุบได้ 3 กันยายน 2017 นายเขม สุกขา หัวหน้าพรรค CNRP ถูกจับด้วยข้อกล่าวหาทรยศต่อชาติ จากการสมคบคิดต่างชาติโค่นล้มรัฐบาล 16 พฤศจิกายน 2017 ศาลฎีกาของกัมพูชาตัดสินยุบพรรค CNRP นอกจากนี้สื่อที่เสนอข่าวไม่เข้าข้างรัฐบาลกัมพูชาอย่าง The Cambodia Daily ได้ถูกสั่งปิดโดยข้อหาไม่ได้จ่ายภาษี โดยมีมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายกว่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๆ 180 ล้านบาท Radio Free Asia (RFA) และ Voice of Democracy และ Voice of America ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานการณ์จดทะเบียน

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี สำหรับผู้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 2 กฎหมายได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม โดยนายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ได้ถูกหมายเรียกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 3

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า สมเด็จฮุน เซน ได้ใช้พระเดชในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม และข่มขู่ให้เกิดความเกรงกลัวที่จะต่อต้านสมเด็จฮุน เซน และพรรค CPP

นอกจากการใช้พระเดชแล้ว สมเด็จฮุน เซน ยังใช้พระคุณ (soft power) ในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของสมเด็จฮุน เซนเสียใหม่ โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2013 สมเด็จฮุน เซน มีภาพลักษณ์เป็นผู้นำประเทศที่มากด้วยบารมี มีความสูงส่งกว่าประชาชนทั่วไป ไม่ค่อยมีภาพที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดประชาชน เห็นได้จากสมเด็จฮุน เซน ไม่ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านและแรงงานบ่อยเท่าไรนัก ในการรณรงค์เลือกตั้งจะไม่ค่อยเห็นภาพ สมเด็จฮุน เซน ขึ้นรถขบวนหาเสียง แต่หลังจากการเลือกตั้งปี 2013 สมเด็จฮุน เซน ได้ไปพบปะชาวบ้านบ่อยขึ้น มีการถ่ายรูปเซลฟี่กับประชาชนและโพสต์ลงเฟสบุ๊คของสมเด็จฮุนเซน และที่สร้างความประหลาดใจให้กับชาวกัมพูชาคือ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาตำบลของกัมพูชาในปี 2017 สมเด็จฮุน เซน ได้มาปราศรัยและได้ขึ้นรถบรรทุกนำขบวนยาว 9 กิโลเมตร ผ่านถนนสายต่างๆ ในพนมเปญเพื่อช่วยลูกพรรคหาเสียง 4



สมเด็จฮุน เซน สมเด็จฮุน เซน ได้มาปราศรัยและร่วมขบวนหาเสียงเลือกตั้งในพนมเปญ
ในการเลือกตั้งระดับตำบล ปี 2017
แหล่งที่มา

– Phnom Penh Post: https://www.phnompenhpost.com/supplements/war-over-political-battle-remains-laws-are-effective-weapon
– Agencia EFE: https://www.efe.com/efe/english/contact/50000336
 

สมเด็จฮุน เซน ได้พบปะแรงงานบ่อยมากขึ้น และในการพบปะแต่ละครั้งจะมีการปรับปรุงสวัสดิการให้กับแรงงาน หรือมอบเงินช่วยเหลือให้แก่แรงงาน เช่น ในวันที่ 23 สิงหาคม 2017 สมเด็จฮุน เซนได้มาพบแรงงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญโดยมีแรงงาน 16,000 คนให้การต้อนรับ สมเด็จฮุน เซน ได้ใช้โอกาสนี้กล่าวกับแรงงานถึงสวัสดิการต่างๆ ที่จะมอบให้แรงงาน เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นเป็น 168 เหรียญสหรัฐในปี 2018 การให้ใช้บริการคมนาคมสาธารณะฟรี การให้บริการสาธารณสุขฟรีที่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2018 สมเด็จฮุน เซน ยังได้กล่าวว่าเขาจะเยี่ยมเยือนแรงงานสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อที่จะรับทราบสภาพความเป็นอยู่และปัญหาของนายจ้างและลูกจ้าง สมเด็จฮุน เซน ยังได้กล่าวว่าเขาได้ชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนที่กัมพูชามากขึ้น 5




สมเด็จฮุน เซน ได้พบปะแรงงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ ในวันที่ 23 สิงหาคม 2017
แหล่งที่มา

– Phnom Penh Post: https://www.phnompenhpost.com/national/pm-pledges-worker-benefits
– Nikkei Asia Review: https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/Minimum-wage-politicking-stings-employers-in-Southeast-Asia
 

กิจกรรมการพบปะระหว่าง สมเด็จฮุน เซน กับประชาชน รวมถึงการให้สวัสดิการและความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ ได้แก่ เฟสบุ๊ค ในการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ว่า สมเด็จฮุน เซน เป็นผู้นำที่ใจดี มีความใกล้ชิดและเป็นกันเองกับชาวบ้าน เป็นคุณลุงที่ใจดีและพร้อมจะดูแลและทำทุกอย่างเพื่อหลานๆ ชาวกัมพูชา

นอกเหนือจากการใช้พระเดชและพระคุณแล้ว สมเด็จฮุน เซน ได้ให้ลูก ๆ ของตนเข้ามามีบทบาททางการเมืองและความมั่นคงมากขึ้น โดยพลเอกดร.ฮุน มาแน็ต ลูกชายคนโต ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก รองผู้บัญชาการองครักษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษต่อต้านการก่อการร้ายและรองประธานเสนาธิการร่วมในกองทัพกัมพูชา

พลตรีฮุน มานิต ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการหยุดงานประท้วงและการชุมนุมประท้วงทุกรูปแบบ รองเลขาธิการสำนักแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินแห่งชาติ

ฮุน มานี ลูกชายคนสุดท้องได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำปงสะปือ และเป็นประธาน The Union of Youth Federations of Cambodia และเป็นประธานกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนเอเชีย

ฮุน มานา ลูกสาวคนโต เป็นประธานบริษัทบายนทีวี ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับพรรค CPP และคอยสนับสนุนงานของพรรค อาทิ สมเด็จฮุน เซน ต้องการที่จะพัฒนาถนน Anlong Veng ไปยังปราสาทเขาพระวิหาร สถานีวิทยุโทรทัศท์บายนได้ให้การสนับสนุนในการสร้างถนนดังกล่าว นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการเผชิญหน้าระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาที่เขาพระวิหาร สถานีวิทยุบายนได้จัดรายการพิเศษเพื่อระดมความช่วยเหลือไปยังทหารที่อยู่แนวหน้า การจัดรายการพิเศษในครั้งนั้นได้เงินจำนวน 1ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ พลตำรวจตรีฑี วิ้จเจีย ซึ่งแต่งงานกับ ฮุน มานา ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจะลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดสวายเรียงในการเลือกตั้งปี 2018 นี้ด้วย

จากการใช้พระเดช (hard power) และพระคุณ (soft power) และการผลักดันให้ลูก ๆ เข้ามามีบทบาทในทางการเมืองและความมั่นคง ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาในปี 2018 พรรคCPP จะชนะการเลือกตั้งและสมเด็จฮุน เซน จะยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาต่อไป สิ่งที่จับตามองคือ การจัดการกับกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นและการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างลูก ๆ ของสมเด็จฮุน เซน และสมาชิกในพรรค CPP ลูก ๆ ของสมเด็จฮุน เซน จะมีความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและสามารถสร้างบารมีให้คนในพรรค CPP ยอมรับได้หรือไม่ นี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป


บทความล่าสุด

เวียดนาม ๑ ปี หลัง CPTPP เร็วไป เกินจะตัดสิน “ได้” หรือ “เสีย”
เวียดนาม ๑ ปี หลัง CPTPP เร็วไป เกินจะตัดสิน “ได้” หรือ “เสีย”

โดย ภาณุรักษ์ ต่างจิตร หลัง CPTPP  มีผลบังคับใช้ (๑๔ มกราคม ๒๕๖๒) ยังยากที่จะแยกผลประโยชน์ของ CPTPP ออกจาก FTA อื่นๆ ที่เวียดนามเข้าร่วม แม้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามประเมินว่าจะช่วยขยายตลาด และเพิ่มการส่งออก แต่การส่งออกไปตลาด CPTPP ปี ๒๕๖๒ ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยกเว้นเม็กซิโกแ

ภาณุรักษ์ ต่างจิตร
2563
กระแสเอเชีย
ความปกติใหม่ ใน ทะเลจีนใต้
ความปกติใหม่ ใน ทะเลจีนใต้

โดย ศูนย์แม่โขงศึกษา  สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่โลกเผชิญกับโรคระบาด ปักกิ่งกลับขยายอิทธิพลในทะเลจีนใต้อย่างก้าวร้าว จนถูกกล่าวหาว่า  “ฉวยโอกาส” จากวิกฤต เพื่อเปลี่ยนกฎของเกมตามต้องการหรือแท้จริงแล้วเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่พญามังกรได้วางไว้แม้ โควิด-

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2563
กระแสเอเชีย
เลือกตั้งเมียนมา ๒๕๖๓ หนังคนละม้วน
เลือกตั้งเมียนมา ๒๕๖๓ หนังคนละม้วน

เมียนมากำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ๓๗ ล้านคน และพรรคการเมืองประมาณ ๙๗ พรรค ที่ยื่นจดทะเบียนต่อ UEC (Union Election Commission) แม้จะเป็นประเด็นเห็นต่างในหมู่พรรคการเมืองจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-๑๙ ซึ่งพรรคเล็กๆ มองว่า โรคระบาดจะทำให้มีผู้มา

ศูนย์แม่โขงศึกษา
2563
กระแสเอเชีย
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5
ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5

โดย ปภังกร เสลาคุณ ผู้ช่วยนักวิจัย ประจำศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกข์คนเมือง: เมื่อเวียดนามต้องรับมือกับฝุ่น PM2.5 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯ ได้มากเท่ากับปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ

ปภังกร เสลาคุณ
2562
thaiworld

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์แม่โขงศึกษา)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 3 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

02-218-7468

02-218-7459