โดย ดร.ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
ชายชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมการแสดง Nyida Parik ที่ลานหญ้าของหมู่บ้าน ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
เข็มนาฬิกาแสดงเวลาตีห้าเศษ แต่แสงอาทิตย์ได้ส่องเหนือหุบเขาบาซาร์ (Basar) จนสว่างไสวแล้ว เช้าวันนี้ผู้เขียนได้รับการชักชวนให้มาชมการซ้อมเต้น Nyida Parik ที่จะแสดงในเทศกาลประจำปี สถานที่ซ้อมการแสดงคือลานหญ้าอเนกประสงค์ของชุมชน บรรยากาศจึงครื้นเครงด้วยเสียงแทรกจากกิจกรรมอื่น ๆ รวมทั้งการเดินตัดผ่านไปมาของสัตว์นานาชนิดที่กำลังออกหากิน ห้องซ้อมเต้นขนาดใหญ่แห่งนี้ช่างมีชีวิตชีวาและโอบล้อมด้วยธรรมชาติจนทำให้การตื่นเช้ากลายเป็นสิ่งที่คุ้มค่าเสียเหลือเกิน
พื้นที่เขตบาซาร์ตั้งอยู่ทางตอนกลางของรัฐอรุณาจัลประเทศ “ดินแดนแห่งแสงพระอาทิตย์แรก” ของประเทศอินเดีย กลุ่มคนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้คือ ชาวกาโล(Galo tribe) ชนพื้นเมืองที่มีขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งในบรรดา 26 กลุ่มชาติพันธุ์ของรัฐ หากท่านผู้อ่านได้ลองศึกษาแผนที่ของประเทศอินเดียจะพบว่ารัฐอรุณาจัลประเทศนี้มีอาณาเขตแนบชิดกับประเทศจีน ภูฏาน และพม่า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่ารูปลักษณ์ภายนอกและวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของผู้คนแถบนี้จะมีความละม้ายคล้ายคลึงกับชาวจีน พม่าและไทยภูเขาเสียมากกว่าวัฒนธรรมอินเดียในแบบที่คนทั่วไปรู้จัก นับเป็นโชคดีของผู้เขียนที่หลายปีมานี้ได้มีโอกาสแวะเวียนมาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกาโลอยู่บ่อยครั้ง ทำให้สัมผัสได้ถึงความผูกพันของพวกเขาที่ยังคงแน่นแฟ้นเสมือนครอบครัวเดียวกันอยู่ ส่วนหนึ่งอาจเพราะพวกเขาล้วนเชื่อว่าสมาชิกทุกคนที่นี่สืบทอดเชื้อสายมาจากอะโบตานี(Abo Tani) บรรพบุรุษของมนุษย์(father of mankind) ข้อสังเกตได้ง่ายประการหนึ่งก็คือคนส่วนใหญ่ในแถบนี้ล้วนแล้วแต่ใช้นามสกุล “Basar” และ “Bam” แทบทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตามความเจริญและเทคโนโลยีสมัยใหม่ส่งผลให้คนในบาซาร์ห่างไกลวิถีชีวิตแบบเดิมออกไปทีละน้อย รวมทั้งการใช้ภาษากาโลที่นับวันจะมีคนรุ่นใหม่พูดได้น้อยลง รัฐบาลและผู้ใหญ่ในชุมชนจึงผลักดันให้มีการจัดเทศกาล Basar Confluence ขึ้นมา โดยหวังว่ากิจกรรมในงานจะสามารถเป็นสื่อกลางในการรวมตัวและการร่วมแรงกายแรงใจของชาวกาโลทุกเพศทุกวัยเพื่อสืบสานประเพณีอันแสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ตนเองเอาไว้ ทั้งยังเป็นโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรมให้บุคคลภายนอกได้สัมผัส รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย การแสดงพื้นบ้านที่ชาวกาโลกำลังฝึกซ้อมนี้จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
Nyida Parik เป็นการเต้นรำพื้นบ้านที่แสดงในงานแต่งงาน การเต้นจะใช้ชายล้วนจากฝ่ายเจ้าบ่าวเพื่อการต้อนรับและแสดงความแข็งแกร่งในการปกป้องวิญญาณชั่วร้ายให้กับขบวนฝ่ายเจ้าสาวให้เดินทางไปสู่เรือนหออย่างปลอดภัย
การเต้นรำนี้เชื่อว่าเป็นพิธีกรรมในงานแต่งงานของอะโบตานีกับลูกสาวของเทพพระอาทิตย์
(Donyi Mumdi) เช่นเดียวกัน ดังนั้นชาวกาโลที่เชื่อว่าตนเองเป็นลูกหลานของอะโบตานีจึงได้ถือเอาการเต้นนี้เป็นประเพณีหนึ่งในงานแต่งงานสืบมา
ผู้เขียนได้ชมการเต้น Nyida Parik ในงานแต่งงานของชาวกาโลเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้านี้ ในวันนั้นกลุ่มชายฉกรรจ์กว่าสิบคนจะมายืนตั้งแถวโดยมีระยะห่างประมาณสองกิโลเมตรจากเรือนหอ เมื่อขบวนเจ้าสาวเดินเท้าใกล้เข้ามาจึงเริ่มสร้างจังหวะด้วยการใช้เหง้าไม้ตีกระทบกับถาดทองเหลือง กลุ่มผู้เต้นจะเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆโดยเน้นไปที่การกระโดด พงกศีรษะ และแปรขบวนแถวหลายทิศทาง พร้อม ๆ กับการตีถาดสร้างจังหวะ แม้ว่าการแสดงจะไม่ได้มีรูปแบบที่ซับซ้อนแต่ก็มีความพร้อมเพรียงกันตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทางที่เจ้าบ่าวรออยู่ ดูเผินๆการเต้นนำขบวนของชายกลุ่มนี้ให้ความรู้สึกคล้ายๆกับการแห่ขันหมากแบบไทยอยู่เหมือนกันความพร้อมเพรียงในการสร้างจังหวะนี้ทำให้เสียงเหง้าไม้กระทบถาดธรรมดาๆนี้ดูเหมือนมีมนต์ขลัง การเต้นพื้นเมืองของชายชาวกาโลนี้ยังแสดงที่มีความหมายโดยนัยว่าฝ่ายเจ้าบ่าวนั้นแข็งแกร่งเสมือนอะโบตานีที่พร้อมที่จะปกป้องเจ้าสาวผู้ซึ่งเป็นบุตรีของเทพพระอาทิตย์ได้
องค์ประกอบอันโดดเด่นของการเต้น Nyida Parik คงหนีไม่พ้นเครื่องแต่งกาย เหล่าผู้แสดงจะคลุมตัวด้วยผ้าทอมือพื้นเมืองโทนสีเข้มทรงตรงแบบทูนิค(tunic) มีความยาวปิดลงมาถึงสะโพก ในพิธีการแต่งงานผู้เต้นอาจไม่ได้สวมเสื้อผ้าสีเดียวกันและใช้เพียงผ้าสีขาวพันช่วงล่างคล้ายกางเกงใน แต่การเต้นที่จัดแสดงในเทศกาลจะนิยมให้ผู้แสดงสวมเสื้อแขนยาวกับกางเกงขาสั้นสีขาวไว้ด้านในเพื่อความสวยงาม เครื่องประดับศีรษะคือหมวกสานพื้นเมือง มีลักษณะเป็นทรงรีครอบเฉพาะศีรษะ ไม่มีปีกหมวก ด้านบนหมวกติดจงอยปากของนกเงือก(hornbill) ตกแต่งด้วยขนนกและขนจามรี(yak) หมวกที่ตกแต่งอย่างสะดุดตานี้นอกจากจะแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของถิ่นอาศัยแล้ว ยังแสดงถึงความสามารถในการล่าสัตว์ของเจ้าของหมวกใบนั้น หมวกแต่ละใบจึงถือเป็นสมบัติส่วนตัวของฝ่ายชายที่สามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไปของครอบครัว
หมวกพื้นเมือง ถาดทองเหลืองและเหง้าไม้ที่ใช้ในการแสดง ภาพถ่ายโดย ลักษณ์นัยน์ ทรงเสี่ยงไชย
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คืออุปกรณ์สร้างเสียงประกอบจังหวะการเต้นที่มีเพียงถาดทองเหลืองและเหง้าไม้ ผู้เต้นจะเป็นผู้กำกับจังหวะกันเองด้วยการใช้หน่อไม้ตีตรงกลางถาดให้เกิดเสียงกังวาลคล้ายกับการตีระฆัง ขนาดของถาดมีความเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บ่งบอกฐานะของผู้แสดงแต่ละคน เพราะถาดทองเหลืองถือว่าเป็นของมีราคา ในขณะเดียวกันยิ่งถาดใหญ่ก็ยิ่งมีน้ำหนักมาก ผู้เต้นแต่ละคนจึงต้องมองหาถาดที่เหมาะสมกับความแข็งแรงของตนเองที่จะสามารถถือถาดนี้ด้วยมือข้างเดียวตั้งแต่ต้นไปจนจบการแสดง ขนาดของถาดยังสะท้อนถึงความทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานแต่งงานครั้งนั้น ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรม เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะมอบเนื้อMithun (สัตว์ท้องถิ่นที่มีลักษณะคล้ายกระทิง) ที่ถูกฆ่าในพิธีให้ผู้แสดงกลับไปแทนคำขอบคุณ ซึ่งสัดส่วนของเนื้อที่จะมอบให้ก็เป็นไปตามขนาดของถาดทองเหลืองที่ผู้แสดงแต่ละคนถือมา
การแสดง Nyida Parik ในเทศกาล Basar Confluence 2018 ภาพถ่ายโดย Parnashree Devi
การเต้น Nyida Parik ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในงานแต่งงานของชาวกาโลโดยเฉพาะคู่บ่าวสาวที่ยังคงนับถือโดนีโปโล(Donyi-Polo) ศาสนาพื้นเมืองของชาวอรุณาจัล ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสที่จะได้เห็นการแสดงประเภทนี้ก็ค่อยๆลดน้อยลงไปทุกทีๆ การฝึกซ้อมการแสดงที่ผู้เขียนกำลังชื่นชมอยู่ในวันนี้แม้จะไม่ได้มีขึ้นเพื่อนำไปใช้ในงานแต่งงานจริงๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าการเต้นพื้นเมืองยังคงถูกใช้เป็นกิจกรรมทางสังคมที่รวบรวมผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังมีบทบาทให้ชายชาวกาโลได้ทำหน้าที่สืบสานศิลปะการแสดงของชนเผ่าตนเองสืบต่อไป
หากผู้อ่านท่านใดอยากชมการเต้น Nyida Parik และการแสดงพื้นเมืองอื่น ๆ รวมถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวกาโล ขอแนะนำให้ท่านวางแผนการเดินทางไปที่หุบเขาบาซาร์ในช่วงเทศกาล Basar Confluence ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี ที่ Basar, Arunachal Pradesh โดยสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ www.basarconfluence.org