บทความของศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย

ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย

ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ในการดำเนินการวิจัยที่สนับสนุนให้เกิดแนวคิดเชิงนโยบายที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง โดยประสานกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการย้ายถิ่น รวมทั้งจัดกิจกรรมทางวิชาการในลักษณะเครือข่ายความร่วมมือที่นำนักวิจัย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาวิชาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมมือกับองค์กร สถาบัน ผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อนำข้อค้นพบจากงานวิจัยอันเป็นประโยชน์ในการชี้นำเชิงนโยบาย และวางแนวทางปฏิบัติในการสร้างความเข้าใจเงื่อนไขและรูปแบบอันหลากหลายของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้อพยพย้ายถิ่น รวมทั้งการตระหนักถึงท่าทีขององค์กรระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองต่อผู้อพยพย้ายถิ่น

ข้อท้าทายในการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย: นโยบายของประเทศที่สาม

ข้อท้าทายในการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย: นโยบายของประเทศที่สาม


อังคณา กมลเพ็ชร์
นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา


ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการให้การต้อนรับการตั้งถิ่นฐานของ ผู้ลี้ภัยจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ  (Refugee Admission)  เหตุผลสำคัญมาจากการที่นโยบายของสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย ในแง่ของการให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม  ประกอบกับสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางไป ตั้งถิ่นฐาน (Bruno, 2012) นอกจากนี้ เครือข่ายขององค์กรการกุศล กลุ่มศาสนา และกลุ่มชาติพันธุ์ ได้รวมตัวกันที่จะให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ. 1980 ถึงกลางทศวรรษ 1990  อันสืบเนื่องมาจากการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยเป็นผลมาจากความขัดแย้งกับ ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่สหรัฐอเมริกามีบทบาทอยู่เป็นอันมาก  ดังนั้น ชุมชนหลายแห่งในสหรัฐอเมริกาจึงยินดีที่จะรับผู้ลี้ภัยเพื่อการตั้งถิ่นฐาน (Zolberg, 1995; Nezer, 2013) 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นักวางแผนเชิงนโยบายของสหรัฐอเมริกาเห็นว่าผู้ลี้ภัยที่เข้าไปตั้งถิ่นฐานมี ความหลากหลายมากขึ้น  ลักษณะของความขัดแย้งที่เป็นสาเหตุให้ต้องลี้ภัยไม่ค่อยมีความชัดเจนสำหรับ ประเทศที่รับผู้ลี้ภัย  ประกอบกับมลรัฐหลายแห่ง รวมทั้งชุมชนต่างๆ ของสหรัฐอมริกา  ประสบปัญหาการว่างงาน และปัญหางบประมาณที่ลดลง  รวมถึงกฎหมายการต่อต้านการอพยพเข้าเมือง (Anti-immigration laws) ที่ได้ประกาศใช้ทั่วประเทศ  ทำให้ชุมชนบางแห่งเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ในการตั้งถิ่นฐาน ของผู้ลี้ภัย  และเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่  รัฐหลายรัฐและชุมชนหลายแห่ง ที่ถูกลดทอนด้านการเงินเริ่มแสดงความไม่พอใจในการใช้เงินทุนที่เริ่มหายากมา ใช้จ่ายให้กับความจำเป็นด้านการแพทย์ การศึกษา ที่อยู่อาศัย และค่าพาหนะขนส่งให้กับผู้ลี้ภัย (Ibid.,) 

แม้ว่าสภาคองเกรสจะได้เพิ่มงบประมาณให้กับ Office of Refugee Resettlement (ORR)  แต่งบประมาณที่เพิ่มขึ้น ก็นำไปเป็นค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มผู้อพยพที่มีปัญหามาก (vulnerable migrant group)  ซึ่งสภาคองเกรสได้กำหนดให้ผู้อพยพกลุ่มนี้ อยู่ภายใต้ภารกิจการดำเนินการของ ORR เช่น กลุ่มเด็กย้ายถิ่นที่ไม่มีผู้ปกครอง และกลุ่มที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเมืองด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ (Unaccompanied Migrant Children and Special Immigrant Visa Recipients)   งบประมาณของ ORR จึงไม่ได้ถูกนำไปใช้กับภารกิจที่เพิ่มขึ้น เช่น ความต้องการของประชากรที่มีความซับซ้อนมากขึ้น   รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ

องค์กรท้องถิ่นที่รับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐาน ต้องดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะบีบคั้นทางการเงิน  เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนตามฐานการคำนวณต่อหัวของ พลเมือง (per capita basis) ดังนั้น กิจกรรมที่ให้บริการต่อชุมชน (community outreach activities) จึงเป็นเรื่องยากที่จะจัดการได้ เนื่องจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ   ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการบริหารจัดการ ที่จะให้การสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานในชุมชน

ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลกลางและ รัฐบาลท้องถิ่น ไม่เต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนในกิจการต่างๆ  ซึ่งต่างเห็นพ้องกันว่าไม่มีความสำคัญ  และเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนในท้องถิ่นกังวลใจต่ออนาคตของตนในช่วงสองทศวรรษที่ ผ่านมา  การรับไปตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่ เช่น ลอสแองเจลิส และนิวยอร์ก ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นการตั้งถิ่นฐานในเมืองที่มีขนาดเล็กลง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หากแต่การที่ไปอาศัยอยู่ในชุมชนเขตเทศบาลเมืองที่มีขนาดกลางและขนาดเล็กก็ ยิ่งทำให้เห็นจำนวนประชากรผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนใน ชุมชนขนาดเล็ก ผู้ลี้ภัยที่ไปตั้งถิ่นฐานในชุมชนขนาดเล็กก็ยิ่งเห็นข้อแตกต่างด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ และศาสนา ที่ผิดแผกไปจากประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนนั้นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (Nezer, 2013) ภาวะความตึงเครียดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยเข้ามาเพิ่มจากชุมชนอื่นอีก หรือที่เรียกว่า secondary migration  นอกจากนี้  ผู้ตั้งถิ่นฐานที่เป็นชาวมุสลิมก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความรู้สึกต่อต้าน ผู้ลี้ภัยให้กับชาวอเมริกัน  จากการสำรวจชุมชนชาวมุสลิมอเมริกันที่บูรณาการเข้ากับสังคมอเมริกันกว่า 75 เมืองทั่วสหรัฐอเมริกาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ชาวอเมริกันไม่พอใจผู้ตั้งถิ่นฐานชาวมุสลิม ก็เนื่องจากสาเหตุหลักคือ ชาวมุสลิมไม่จงรักภักดีต่อประเทศชาติ  และเทิดทูนข้อบังคับของศาสนาอิสลามมากกว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกา (Ahmed, 2010)

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะความ รู้สึกต่อต้านผู้ลี้ภัย  ซึ่งจะมีผลต่อโครงการรับไปตั้งถิ่นฐานก็คือ การที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้รับการปลูกฝังให้มีแรงกระตุ้นในการต่อต้านผู้ อพยพเข้าเมือง  โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่เข้ามาเพื่อตั้งถิ่นฐาน โดยการหันไปให้ความสนใจกับกฎหมายต่อต้านผู้อพยพที่มีการประกาศใช้ทั่ว ประเทศ  ในปี ค.ศ. 2010 มลรัฐอริโซนา ได้ออกพระราชบัญญัติที่ตราโดยวุฒิสภา SB 1070 (Senate Bill) ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติที่มีผลบังคับใช้กับผู้เข้าเมือง  อันจะทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารถูกต้องเดินทางเข้าประเทศอย่าง ลำบากมากขึ้น  (Refugee Council Press Release, 2013) หลังจากที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้  ในปีถัดมามลรัฐต่างๆ มากกว่า 20 มลรัฐ ได้ออกพระราชบัญญัติลักษณะเดียวกัน เช่น มลรัฐอัลบามา จอร์เจีย อินเดียน่า แคโรไลน่าตอนใต้ และยูทาห์  แม้ว่าศาลจะมีการขัดขวางมาตรการทางกฎหมายบางส่วนหรือทั้งหมด  แต่ในปี ค.ศ. 2012 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน   นักกฎหมายในแคนซัส มิสซูรี่ มิสซิสซิปปี้ เวอร์จีเนียตะวันตก และเทนเนสซี รวมทั้งชุมชนหลายแห่ง ก็ได้นำพระราชบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้มาใช้  

กระแสการต่อต้านการเข้ามาเกี่ยวข้องของรัฐบาล กลางในการตัดสินใจที่จะให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนเริ่มปรากฏ ชัดเจนมากขึ้น   อันเป็นผลมาจากนโยบายการเข้าเมืองของรัฐบาลกลาง   ประกอบกับกลุ่มผู้ต่อต้านเริ่มที่จะนำประเด็นผู้ลี้ภัยมาเป็นวาระสำคัญ มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายนักวิชาการ เช่น Center for Immigration Studies (CIS)  ซึ่งสนับสนุนกฎหมายต่อต้านผู้อพยพ ได้ตีพิมพ์รายงานที่ท้วงติงเกี่ยวกับการสูญเสียงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และโครงการตั้งถิ่นฐานก็เป็นที่รับรู้กันว่า มีการสวมรอยของผู้ที่ต้องการเข้ามาอาศัยอยู่ในอเมริกา  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่มีความตั้งใจที่จะปรับตัวเข้ากับสังคมอเมริกัน รายงานในโลกของสื่อออนไลน์ เช่น Refugee Resettlement Watch (2012) รวมทั้งกลุ่มต่อต้านชาวมุสลิมและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก็วิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการรับไปตั้งถิ่นฐานว่า เป็นการเปิดทางให้กับการก่อการร้าย  รวมถึงความไม่พอใจต่างๆ ต่อโครงการ  โดยเฉพาะการรับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเพื่อการตั้งถิ่นฐาน

เหตุผลต่างๆ ที่เนื่องมาจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ และการขาดเงินทุนที่เพียงพอจากรัฐบาลกลางเปิดทางให้กับนักการเมืองของรัฐและ นักการเมืองท้องถิ่นที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย  และมองว่าผู้ลี้ภัยได้เข้ามาแย่งทรัพยากรจากรัฐและท้องถิ่น  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรงเรียน  ระบบการรักษาพยาบาล บริการด้านสังคม และการช่วยเหลือในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ  กระแสการมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นภาระของสังคมมากกว่าเป็นประโยชน์ในระยะยาวกำลัง ขยายวงกว้างออกไป  ทั้งที่ในความเป็นจริงก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า  ผู้ลี้ภัยสามารถกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยการเพิ่มฐานภาษี การริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ สร้างความแน่นแฟ้นให้กับสังคมอเมริกันที่จะมีเพื่อนบ้านกลุ่มใหม่  การช่วยทดแทนการขาดแคลนแรงงาน  การดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากความต้องการเช่าที่อยู่อาศัย เช่น อพาร์ทเม้นต์ การอุปถัมภ์ธุรกิจให้กับท้องถิ่น และการได้รับงบประมาณจากรัฐบาลกลาง ที่ส่งโดยตรงไปยังโรงเรียนและโครงการช่วยเหลือสาธารณชน ไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น (Ibid.,)

มีการศึกษาให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ ภัยในชุมชนต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา กับกระแสการต่อต้านการรับไปตั้งถิ่นฐาน  ผู้ลี้ภัยจะตั้งถิ่นฐานในเมืองขนาดใหญ่เช่น ฮูสตัน ดัลลัส โฟนิกซ์  โคลัมบัส   และฟิลาเดเฟีย (Houston, Dallas, Phoe­nix, Columbus, and Philadelphia)  ไปจนถึงเมืองเล็กๆ เช่น    คลาร์กสตัน จอร์เจีย วินูสกี้ในรัฐเวอร์มอนต์ เลวิสตันในรัฐเมน และยูทิกาในนิวยอร์ก (Clarkston, Georgia, Winooski – VT, Lewiston – ME, and Utica – NY)  ชุมชนที่มีผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานประมาณกว่า 200 แห่ง ตั้งอยู่ในรัฐที่มีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านผู้อพยพ แต่ก็มีชุมชนที่มีความเป็นมิตรกับผู้ลี้ภัยและไม่ได้สนใจกับกฎหมายดังกล่าว  มีเพียงชุมชน 3 แห่ง เช่น เทนเนสซี นิวแฮมไชส์ และจอร์เจีย (Tennessee, New Hampshire, and Georgia)  ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้พยายามที่จะยุติการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย ทั้งระดับการบังคับด้วยข้อกฎหมายและระดับการดำเนินการ  กระแสการต่อต้านนี้เห็นได้ชัด เช่น ในมลรัฐเทนเนสซีได้ออกพระราชบัญญัติ Refugee Absorptive Capacity Act ในปี ค.ศ. 2011 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการตั้งถิ่นฐาน ประสานกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อให้ตระหนักรู้ถึงภาระที่ชุมชนท้องถิ่นจะต้อง แบกรับในการดูแลผู้ลี้ภัยจำนวนมาก  และชุมชนไม่สามารถตอบสนองความจำเป็นของคนในชุมชน เช่น การจัดหาบ้านเช่าราคาถูก หรือการที่โรงเรียนในชุมชนไม่สามารถจัดการเรียนการสอน ที่สนองตอบต่อความต้องการด้านการศึกษาให้แก่เด็กผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในวัย เรียนได้ทั่วถึง (Nezer, 2013)

ชุมชนในรัฐเทนเนสซีได้รับผู้ลี้ภัยจำนวน 4,333 คนไปตั้งถิ่นฐานในช่วงระหว่างปีค.ศ. 2009 – 2011  โดยแบ่งเป็นชาวอิรัก จำนวน 1,128 คน (ร้อยละ 26) ชาวพม่า 1,118 คน ชาวภูฏาน 817 คน ชาวโซมาเลีย 540 คน   ในช่วงปีที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้  ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยหลายคนได้ย้ายไปทำงานที่โรงงานผลิตอาหาร  Tyson Foods Plant เนื่องจากประชากรในเมือง Shelbyville และตลอดทั่วรัฐเทนเนสซีต่อต้านผู้เดินทางเข้ามาใหม่  โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยจากโซมาเลีย  ซึ่งเป็นชาวมุสลิมด้วยการแสดงความเกลียดชัง ใช้คำพูดรุนแรง การก่ออาชญากรรมต่อชาวมุสลิม และแม้กระทั่งการเผาสุเหร่า (Yeakly, 2011)

หลายชุมชนกำลังกังวลกับเงินทุนที่ใช้ไปในการ ให้บริการกับผู้ลี้ภัย ซึ่งไม่สามารถจะเบิกคืนได้จากรัฐบาลกลาง  ความวิตกกังวลนี้ผนวกกับความหวาดกลัวผู้เข้ามาใหม่  ซึ่งมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา  รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนท้องถิ่นรู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนของตน  ในปี ค.ศ. 2010 รัฐเทนเนสซีได้ใช้กฎหมาย English-only law ซึ่งเหมือนเป็นการบังคับผู้ที่เดินทางเข้ามาใหม่ในรัฐเทนเนสซี ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  ซึ่งมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายจะคล้ายคลึงกับกฎหมายของรัฐอริโซน่า ในการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของรัฐ จะใช้แต่ภาษาอังกฤษเท่านั้น (Ford Harrison Legal Alerts, 2010)  และมีการสั่งห้ามกฎหมายอิสลามหรือ ชารีอะห์ (Sharia law)  ซึ่งเทียบเคียงได้กับปฏิบัติการของชาวอิสลามที่มุ่งจะก่อการร้าย  ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2012 Bureau of Population, Refugees, and Migration – PRM ได้พยายามอธิบายให้สมาชิกวุฒิสภาของรัฐเทนเนสซีเข้าใจถึงการดำเนินงานของ โครงการรับไปตั้งถิ่นฐาน และ PRM ไม่ได้ควบคุมการย้ายถิ่นไปยังรัฐ หรือชุมชนอื่นภายหลังการเข้ามาตั้งถิ่นฐาน (secondary migration)  ซึ่งการต่อต้านการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในรัฐเทนเนสซีค่อนข้างรุนแรง  สมาชิกวุฒิสภาของรัฐเทนเนสซีได้ตอบโต้ว่า หากมีการนำผู้ลี้ภัยเข้ามาในชุมชนต้องไปขออนุญาตจากผู้นำชุมชน นายกเทศมนตรี สมาชิกสภา เทศมนตรี ผู้อำนวยการโรงเรียน โรงพยาบาล หรือใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของผู้ลี้ภัย  อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยผู้ลี้ภัย  (Refugee Bill) จะผ่านรัฐสภา  Tennessee Immigrant and Refugee Rights Coalition (TIRRC) ต้องการให้ร่างพระราชบัญญัติกระตุ้นรัฐบาลท้องถิ่น ในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะไม่ให้มีการสนับสนุนการรับผู้ลี้ภัยเพื่อการ ตั้งถิ่นฐานอีกต่อไป TIRRC เห็นว่ากฎหมายใหม่จะช่วยกระตุ้นการสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้ลี้ภัย และองค์กรที่ทำงานด้านการรับไปตั้งถิ่นฐาน รวมถึงชุมชนที่รับผู้ลี้ภัยเพื่อการตั้งถิ่นฐาน   แต่ร่างพระราชบัญญัติไม่ได้ตั้งใจกีดกันครอบครัวผู้ลี้ภัยที่ได้ตั้งถิ่นฐาน อยู่แล้ว   ร่างพระราชบัญญัติจะเป็นตัวอย่างให้แก่รัฐอื่นๆ และเป็นรากฐานในการพัฒนากฎหมายอื่นๆ ต่อไป

ข้อท้าทายขององค์กรที่ดูแลผู้ลี้ภัยเพื่อการตั้งถิ่นฐาน

ทั้งองค์กร PRM และ ORR ต่างก็กังวลใจอย่างเห็นได้ชัดต่อการต่อต้านการรับผู้ลี้ภัยเพื่อการตั้งถิ่น ฐาน ที่กำลังขยายตัวขึ้นในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ  โดยเฉพาะรัฐเทนเนสซี จอร์เจีย และนิวแฮมไชร์  PRM ได้เดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อพยายามที่จะลดความตึงเครียดนี้ให้ผ่อนคลายลง และชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของโครงการรับไปตั้งถิ่นฐาน  PRM ใช้วิธีการลดจำนวนที่จะรับผู้ลี้ภัยเข้าไปในชุมชนที่ไม่ต้องการรับผู้ลี้ภัย เป็นจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ลี้ภัยที่เข้าไปเช่าในที่พักอาศัยต่างๆ ก็บ่งบอกถึงความเป็นจริงที่สวนทางกัน     เนื่องจาก ชุมชนบางแห่งไม่สามารถที่จะรับผู้ลี้ภัยได้อีกแล้ว  นอกจากนี้ หากว่าความรู้สึกต่อต้านการรับผู้ลี้ภัยเพื่อการตั้งถิ่นฐานได้ทำให้เกิด กระแสการต่อต้านไปทั่วประเทศ ก็จะเป็นเรื่องยากสำหรับ PRM ในการดำเนินการที่จะลดจำนวนการรับผู้ลี้ภัย  ORR ก็ได้พยายามดำเนินการบางอย่าง  โดยเมื่อไม่นานมานี้  ORR ได้ให้เงินทุนกับการดำเนินการต้อนรับสู่สหรัฐฯ เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการชุมชน และเพื่อการเปิดรับโครงการเข้าสู่ชุมชน  Welcoming America for a Fostering Community Engagement and Welcoming Community Project  เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่เครือข่ายการตั้งถิ่นฐานให้แก่ผู้ลี้ ภัย  และให้การสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ที่มีการดำเนินงานเชื่อมโยงถึงกันระหว่างองค์กรที่ดำเนินการด้านผู้ลี้ภัย การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายใหม่เพื่อเข้ามารองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความสำเร็จของการบูรณาการผู้ลี้ภัยกับชุมชนเมือง และชุมชนท้องถิ่น

หลายองค์กรได้ตระหนักถึงปัญหาข้อท้าทายที่ โครงการรับผู้ลี้ภัยเพื่อตั้งถิ่นฐานกำลังเผชิญอยู่   ไม่ว่าจากชุมชน นโยบายของรัฐเกี่ยวกับผู้อพยพเข้าเมือง ที่ส่งผลกระทบถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย  สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา คือความร่วมมือจากองค์กรทุกภาคส่วน  ทั้งหน่วยงานที่ดูแลด้านการให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐ  และประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจในการเปิดชุมชนเพื่อรับผู้ลี้ภัย  การรับรู้ข้อมูลที่เท่าเทียมกันนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการตั้งถิ่นฐานระดับชาติจำเป็นจะต้องมีข้อมูลเพื่อ แจ้งให้ผู้ลี้ภัยได้รับทราบถึงการตัดสินในการจัดหาสถานที่หรือชุมชนให้ผู้ ลี้ภัยเข้าพักอาศัย  และองค์กรท้องถิ่นต้องมีความพร้อมทางทรัพยากรด้านต่างๆ ที่จะเข้าไปเกี่ยวพันกับบุคคลสำคัญในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งผู้ลี้ภัยจำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูล และการปฐมนิเทศที่มากเพียงพอ ก่อนการเดินทางเข้ามาในประเทศที่สาม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในการตั้งถิ่นฐาน (Dwyer, 2010; Nezer, 2013)

รายงานรวมทั้งงานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับ การตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยในประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกาในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้  มักจะกล่าวถึงปฏิกิริยาอย่างรุนแรงจากชุมชนหลายแห่งที่แสดงการต่อต้านการ ตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย  แต่อย่างไรก็ตามในบรรดาเมืองนับเป็นร้อยๆ แห่ง และชุมชนหลายชุมชนที่   ผู้ลี้ภัยเข้าไปตั้งถิ่นฐาน  ก็ยังมีอีกหลายชุมชนที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านใดๆ งานวิจัยที่จะศึกษาถึงชุมชนเหล่านี้ก็ยังมีน้อย  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาและประเมินแง่มุมที่โครงการตั้งถิ่นฐานประสบ ความสำเร็จ และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เห็นแนวทางสร้างสรรค์ที่ควรจะให้การสนับสนุนโครงการรับไปตั้งถิ่น ฐาน 

บรรณานุกรม

Ahmed, Akbar. 2010. Journey into America: The Challenge of Islam. Brookings Institution Press (June 15, 2010).

Bruno, Andorra. 2012. Refugee Admissions and Resettlement Policy. Congressional Research Service. CRS Report for Congress. Available at www.crs.gov.

Dwyer, T. 2010. Refugee Integration in the United States: Challenges and Opportunities. Washington: Church World Service.

Episcopal News Service (EPS). 2013. Faith Leaders Urge Senators to Protect Refugee Asylum, Traditions.

Refugee Council Press Release. Available at http://episcopaldigitalnetwork.com/ens/2013/05/08.

Ford Harrison Legal Alerts. 2010. Tennessee Governor Signs Law Permitting English-Only Policies. June 25, 2010. Available at http://www.fordharrison.com/6320.

International Organization for Migration (IOM). 2011. IOM Resettlement Assistance: helping Refugees to Begin a New Life. Available at http://www.iom.int/jahia/Jahia/activities/by-theme/movement-emergency-post-crisis/resettlement-assistance. Retrieved 13 January 2011.

Milner, James and Loescher, Gil. 2011. Responding to Protracted Refugee Situations: Lessons from a Decade of Discussion. Forced Migration Policy Briefing 6. Refugee Studies Center, Oxford Department of International Development, University of Oxford.

Nezer, Melanie. 2013. Resettlement At Risks: Meeting Emerging Challenges to Refugee Resettlement in Local Communities. HIAS. 

Office of Refugee Resettlement: An Office of Administration for Children & Families Fiscal Year 2006-2012 Refugee Arrivals by State of Initial Resettlement and Country of Origin. Available at http://www.acf.hhs.gov/programs/orr/resource/refugee.

Refugee Resettlement Watch. 2012. With New Bill, Muslim Congressman Ellison Takes the Lead to Loosen Restriction on Refugees. September 24, 2012. Available at http:// refugeeresettlement watch.wordpress.com.

Yeakly, Richard. 2011. Tennessee Amends Anti-Sharia Law. Huffington Post. March 25, 2011. Available at http://www. huffingtonpost.com/2011/03/25/Tennessee-amends-antishar_n_840787.html.

Zolberg, A. R. 1995. From Invitation to Interdiction: US Foreign Policy and Immigration since 1945. In M. S. Teitelbaum, & M. Weiner, Threatened Peoples, Threatened Borders: World Migration Policy (pp. 117-159). New York: The American As­sembly, Columbia University.

http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1278


บทความล่าสุด

ที่ตั้งสถาบัน (ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย)

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Institute of Asian Studies Chulalongkorn University)

อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 7 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330